เรื่องนิพพานเป็นอัตตา หรือ เป็นอนัตตา

เรื่องนี้ เป็นประเด็นที่พูดถึงบ่อย ผู้เขียน จึงได้สรุปรวบรวมตามหลักธรรมวินัยที่ถูกต้องดังนี้

  • นิพพาน เป็น อัตตา –> ผิด
  • นิพพาน เป็น อนัตตา –> ถูก
  • นิพพาน ไม่ใช่ อัตตา และ ไม่ใช่อนัตตา –> ผิด
  • นิพพาน เป็น นิพพาน –> ถูก
  • นิพพาน เป็นช่องว่างในที่อันคับแคบ –> ผิด

ถ้า พูดถึงลักษณะ อัตตา กับ อนัตตา ต้องตอบว่า นิพพานเป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัวตน

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา” แปลว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน

ในพระไตรปิฎก ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า นิพพาน เป็นอนัตตา ดังภาพ

15391404_1696481403995938_5992057224744299526_o

การตอบว่า นิพพาน ก็คือ นิพพาน นั้นไม่ผิด แต่ เป็นการพูดคนละเรื่อง คนละประเด็น กับคุณสมบัติหรือลักษณะ

นิพพานพ้นจากไตรลักษณ์ คือ ไม่เป็นอนิจจัง และไม่เป็นทุกขัง เพราะ นิพพานเป็นนิจจัง คือเที่ยงแท้ไม่แปรผัน นิพพานเป็นสุขขัง คือ เป็นสุขอย่างยิ่ง

แต่นิพพานเป็น อนัตตา  เพราะไม่อยู่ในอำนาจบังคับ ไม่ใช่ตัวตน

“อนตฺตา” มาจาก “น” + “อตฺตา” ก็คือ ไม่ใช่ อัตตา

การบอกว่า นิพพานไม่เป็น อัตตา ก็ความหมายเดียวกับ อนัตตา นั่นเอง

อุปมาเหมือนการถามว่า ก้อนหินมีชีวิตหรือไม่?

ก็ควรตอบว่า “ก้อนหิน ไม่มีชีวิต” จบแค่นี้

การตอบว่า “ก้อนหินเป็นก้อนหิน” เป็นการตอบที่ไม่ตรงประเด็น

ส่วนการตอบว่า “ก้อนหิน ไม่ใช่มีชีวิต และ ไม่ใช่ ไม่มีชีวิต”  ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง เพราะขัดแย้งกันเองในอรรถ

 

ถ้าถามว่านิพพานเป็น อัตตา หรือเป็นอนัตตา

ที่ถูกต้องตอบว่า “นิพพานเป็นอนัตตา”

การตอบ “นิพพานเป็นนิพพาน” แม้จะถูกจริง แต่เป็นการตอบไม่ตรงคำถาม  ส่วนการตอบว่า “นิพพานไม่ใช่ อัตตา และไม่ใช่อนัตตา” ก็เป็นถ้อยคำที่ขัดแย้งกันเอง เหมือนเช่นการตอบคำถามเรื่องก้อนหินนั่นแหละ

ท่านเจ้าคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ ปยุตฺโต) ท่านได้เขียนรายละเอียดเรื่องนี้ไว้ใน หนังสือ พระไทยใช่เขาใช่เรา สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก

http://www.watnyanaves.net/th/book_detail/544

โพสท์ใน Uncategorized | ใส่ความเห็น

สวดปาฏิโมกข์ 150 ข้อ ผิดจากพระพุทธบัญญัติยังไง?

วัดนาป่าพง สวดปาฏิโมกข์โดยละเว้นการสวด อนิยต 2 ข้อกับ เสขิยวัตร 75 ข้อ ทำให้เหลือ 150 ข้อ (227 – 2 – 75 = 150) นั้น เป็นการไม่ทำตามพุทธวจนะ ในวินัยปิฎก

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในปาฏิโมกขุเทศ (ปาฏิโมกข์+ อุเทศ

; คำว่า อุเทศ แปลว่า ที่ต้องแสดง) ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปาติโมกขุทเทสนี้มี ๕ คือ

– ภิกษุสวดนิทานจบแล้ว พึงสวดอุทเทสที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นปาติโมกขุทเทสที่ ๑.

– สวดนิทาน สวดปาราชิก ๔ จบแล้ว พึงสวดอุทเทสที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นปาติโมกขุทเทสที่ ๒.

-สวดนิทาน สวดปาราชิก สวดสังฆาทิเสส ๑๓ จบแล้ว พึงสวดอุทเทสที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นปาติโมกขุทเทสที่ ๓.

-สวดนิทาน สวดปาราชิก ๔ สวดสังฆาทิเสส ๑๓ สวดอนิยต ๒ จบแล้ว พึงสวดอุทเทสที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นปาติโมกขุทเทสที่ ๔.

– สวดโดยพิสดารหมด(สวดอย่างละเอียด) เป็นปาติโมกขุทเทสที่ ๕.

ทั้งนี้ การสวดแบบ 1 – 4 นั้น เป็นการสวดโดยย่อซึ่งสวดไดก็ต่อเมื่อมีเหตุฉุกเฉินหรือมีเหตุจำเป็นจริงๆ (มี 10 กรณีที่อนุญาตให้สวดได้)

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ย่อในเพราะอันตรายเห็นปานนี้ เมื่อไม่มี อันตราย ให้สวดโดยพิสดาร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อไม่มีอันตราย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์ย่อ รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ”

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=04&A=4420&Z=4480

ทีนี้สาวกวัดนามักกล่าวอ้างว่า

– สวดแค่ 150 แต่จริงๆ แล้ว สิกขาบท มีมากเป็นพันข้อ

– ไม่รู้ว่า สวดโดยละเอียด หรือสวดพิสดารหมด นั้นมีอันไหนต้องสวดบ้าง

ทั้งนี้เป็นเพราะไม่ได้ศึกษาพุทธวจนะในพระวินัยปิฎกให้ดี เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ชัดเจนแล้วว่า สิกขาบทไหนบ้างที่ให้แยกขึ้นแสดงในปาฏิโมกข์ โดยตรัสไว้ในรายข้อนั้นๆเลยทีเดียว ซึ่งข้อที่ทรงให้ยกขึ้นแสดงในปาฏิโมกข์จะมีพุทธดำรัสว่า

” ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้”

(หวังว่า สาวกวัดนา คงไม่แถอีกนะครับว่า ที่ขึ้นแสดง ไม่ได้บอกว่าแสดงในปาฏิโมกข์ แล้วจะไปแสดงตอนไหนล่ะครับ?)

แต่ถ้า สิกขาบทไหนที่ ไม่ต้องแสดงในปาฏิโมกข์พระพุทธเจ้าก็จะไม่ตรัสให้แสดง

ยกตัวอย่างเช่นกรณีที่กล่าวถึงว่า ทางพระวัดนาป่าพง ไม่สวดปาฏิโมกข์โดยละเอียด นั้นจัดเป็นอาบัติทุกกฏ พระพุทธเจ้าตรัสแค่ว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อไม่มีอันตราย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์ย่อ รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ”

คือจะระบุอาบัติไปเลยว่าทำแบบนั้นอาบัติแบบนี้ แต่ไม่มีที่บอกว่า ยกขึ้นแสดง

แล้วอย่างข้อที่ถูกวัดนาป่าพงตัดไปนั้น พระพุทธเจ้าให้แสดงหรือไม่ มาดูหลักฐานกัน

ข้อ อนิยตะ พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้

๑. อนึ่ง ภิกษุใดรูปเดียว สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือในอาสนะกำบัง พอจะทำการได้กับมาตุคามผู้เดียว อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้ เห็นภิกษุกับมาตุคาม นั้นนั่นแล้ว พูดขึ้นด้วยธรรม ๓ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือด้วยปาราชิกก็ดี ด้วย สังฆาทิเสสก็ดี ด้วยปาจิตตีย์ก็ดี ภิกษุปฏิญาณซึ่งการนั่ง พึงถูกปรับด้วยธรรม ๓ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ด้วยปาราชิกบ้าง ด้วยสังฆาทิเสสบ้าง ด้วยปาจิตตีย์ บ้าง อีกอย่างหนึ่ง อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้นั้น กล่าวด้วยธรรมใด ภิกษุนั้นพึงถูกปรับ ด้วยธรรมนั้น ธรรมนี้ชื่อ อนิยต.

http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=1&A=19270&Z=19500&pagebreak=0

ส่วนเสขิยวัตร ทรงตรัสว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้

๑. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักนุ่งเป็นปริมณฑล.

สิกขาบทวิภังค์

 อันภิกษุนุ่งปิดมณฑลสะดือ มณฑลเข่า ชื่อว่านุ่งเป็นปริมณฑล.

 ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ นุ่งผ้าเลื้อยหน้าหรือเลื้อยหลัง ต้องอาบัติทุกกฏ.

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=02&A=15168&Z=15317

จากหลักฐานคงชัดเจนแล้วนะครับว่า พระวัดนาป่าพง ไม่ได้ปฏิบัติตาม

พุทธวจนะ ในพระวินัยปิฎก และต้องอาบัติทุกกฏ เพราะไม่ได้สวดปาฏิโมกข์โดยละเอียด โดยปราศจากเหตุอันตราย 10 อย่าง

ที่ยกมาข้างต้น เป็นพุทธวจนะทั้งสิ้นไม่ได้มีคำของสาวกเลยนะครับ

ถ้าจะมีคำของสาวกก็คือ คำของสาวกที่ชื่อพระคึกฤทธ์ ที่บอกให้ตัด อนิยตะ กับ เสขิยวัตร ออกจากการสวดปาฏิโมกข์ จนเหลือ 150 ข้อ นั่นเอง

โพสท์ใน Uncategorized | 6 ความเห็น

ลัทธิที่ไม่รับฟังคำกล่าวของสาวกพระพุทธเจ้า

มีบางลัทธิปฏิเสธที่จะรับฟังคำสอนจากสาวก แต่จะฟังแต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเท่านั้น ซึ่งเกิดจากความเข้าใจผิดในพระพุทธเจ้าที่ว่า

ก็บริษัทที่ได้รับการสอบถามแนะนำไม่ดื้อ
ด้านเป็นไฉน ภิกษุในบริษัทใดในธรรมวินัยนี้ เมื่อผู้อื่นกล่าวพระสูตรที่กวีรจนาไว้
เป็นคำกวี มีอักษรวิจิตร มีพยัญชนะวิจิตร มีในภายนอก เป็นสาวก-
*ภาษิต ไม่ตั้งใจฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูลงสดับ ไม่เข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อจะรู้ทั่วถึง
อนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นไม่เข้าใจธรรมที่ตนควรเล่าเรียน ท่องขึ้นใจ แต่ว่า เมื่อผู้อื่น
กล่าวพระสูตรที่ตถาคตภาษิตไว้ ซึ่งลึกล้ำ มีอรรถลึกล้ำ เป็นโลกุตระปฏิสังยุต
ด้วยสุญญตธรรม ย่อมตั้งใจฟังเป็นอย่างดี เงี่ยหูลงสดับ เข้าไปตั้งจิตเพื่อจะรู้
ทั่วถึง และภิกษุเหล่านั้นย่อมเข้าใจธรรมที่ตนควรเล่าเรียน ท่องขึ้นใจ ภิกษุ
เหล่านั้นเรียนธรรมนั้นแล้ว ย่อมสอบสวนเที่ยวไต่ถามกันและกันว่า พยัญชนะนี้
อย่างไร อรรถแห่งภาษิตนี้เป็นไฉน ภิกษุเหล่านั้นย่อมเปิดเผยอรรถที่ลี้ลับ ทำ
อรรถที่ลึกซึ้งให้ตื้น และบรรเทาความสงสัยในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย
หลายอย่างเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เรียกว่า บริษัทผู้ได้รับการสอบถาม
แนะนำ ไม่ดื้อด้าน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกเหล่านี้แล ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย บรรดาบริษัท ๒ จำพวกนี้ บริษัทที่ได้รับการสอบถามแนะนำ ไม่ดื้อ
ด้าน เป็นเลิศ ฯ

http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=1841&Z=1990

จริงๆอรรถกถาจารย์ท่านอธิบายไว้ว่าหมายถึงไม่ควรฟังหรือใส่ใจคำกล่าวของสาวกของศาสดาอื่นที่กล่าวนอกแนวที่พระพุทธเจ้าสอนต่างหาก ดังหลักฐานในอรรถกถาดังนี้
———
บทว่า พาหิรกา ได้แก่ เป็นสุตตันตะนอกพระศาสนา.
บทว่า สาวกภาสิตา ได้แก่ ที่พวกสาวกของพาหิรกศาสดาเหล่านั้นกล่าวไว้.

http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=287
————

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนว่า “ห้ามฟังคำกล่าวของสาวก”
ซึ่งการเข้าใจผิดว่า “ห้ามฟังคำกล่าวของสาวก” เป็นความเข้าใจผิดในคำสอนของพระพุทธเจ้า

อย่าง ที่พระอัสสชิสอน อุปติสสะมานพ ก่อนบวชเป็นพระสารีบุตรว่า
“เย ธัมมา เหตุ ….” ซึ่งแปลว่า ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระพุทธเจ้าแสดงเหตุแห่งธรรมนั้นและความดับแห่งธรรมนั้น

ซึ่งก็เป็นคำกล่าวของพระสาวกคือพระอัสสชิซึ่งเป็นพระสาวกองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้า (ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ตรัสแบบนี้เป๊ะๆแน่นอน) แต่ อุปติสสะมานพ ฟังคำสอนของสาวกก็ยังบรรลุโสดาบันได้ โดยไม่ต้องฟังจากคำสอนเป๊ะๆจากพระพุทธเจ้าสอน

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=4&A=1358&Z=1513&pagebreak=0

อีกอย่างพระพุทธเจ้าเองท่านก็ตรัสหลักตัดสินพระธรรมวินัยโดยมีใจความสรุปว่า คำสอนใดเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ เพื่อความไม่ขี้เกียจ ฯลฯ ก็นับเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น ไม่ว่าผู้กล่าวจะเป็นสาวกหรือใครก็ตาม ดังรายละเอียดที่ท่านท่านสอนนางปชาบดีโคตมีว่า
——————
ดูกรโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลาย
กำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความกำหนัด เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นไป
เพื่อประกอบสัตว์ไว้ เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส เป็น
ไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก เป็นไปเพื่อสันโดษ
ไม่เป็นไปเพื่อไม่สันโดษ เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วย
หมู่คณะ เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เป็นไปเพื่อ
ความเป็นคนเลี้ยงง่าย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก ดูกรโคตมี ท่านพึง
ทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ฯ

http://84000.org/tipitaka/read/?23/143/289
——————-
ถ้าหลวงพ่อ หลวงปู่ หลวงตา สาวกท่านใด หรือใครก็ตาม สอนในสิ่งเหล่านี้ โดยที่ไม่ขัดแย้งกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนก็ถือว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน นั่นคือพระพุทธเจ้าให้ฟังคำสอนของสาวกได้

แต่ไม่ใช่คำสอนสาวกที่นอกแนว หรือ สอนผิดจากที่พระพุทธเจ้าสอน เช่นสอนผิดๆว่า นิพพานเป็นอัตตา นิพพานเป็นแดนทิพย์ที่มีพระพุทธเจ้าอยู่ในกุฏิสวยงาม ฯลฯ

หรือแม้แต่ พระพรหมบางตน นั้นพระพุทธเจ้า ท่านก็รับรองภาษิตบางคำด้วยเช่นกันว่ากล่าวได้ถูกต้อง เช่น ภาษิตของ “สนังกุมารพรหม” เป็นต้น ดังที่ว่า

กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่ชนผู้รังเกียจด้วยโคตร แต่ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในเทวดาและมนุษย์ ฯ

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=15&A=4946&Z=4963

โพสท์ใน Uncategorized | 1 ความเห็น

อายุเท่าไหร่จึงสามารถปฏิบัติธรรมถึงขั้นอรหันต์ได้?

(ที่สุดของการปฏิบัติธรรมคือการบรรลุอรหัตตผล สิ้นกิเลสทั้งปวง ทำให้พ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง

การบรรลุเป็นพระอรหันต์ย่อมเป็นสิ่งที่ผู้คนทั้งหลายปรารถนา แต่กว่าจะรู้ซึ้งถึงคุณค่านั้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยบารมีที่เคยสร้างและสั่งสมเอาไว้ในกาลก่อนจึงจะทำให้เกิดแรงผลักดันบันดาลใจให้สนใจปฏิบัติธรรมพ้นทุกข์ได้ ส่วนที่บารมีไม่แก่กล้าก็มักจะอ้างว่า ยังเด็กไปบ้าง ไว้โตก่อน หรือไว้ค่อยแก่ก่อนแล้วจึงจะเริ่มปฏิบัติธรรม  ซึ่งการคิดเช่นนั้น เป็นการเสียโอกาสอย่างมาก

จึงเป็นที่มาของบทความนี้ที่ว่า แล้วต้องอายุเท่าไหร่จึงจะสามารถปฏิบัติธรรมได้จนถึงขั้นได้มรรคผลนิพพาน? 

หลายท่านมักเชื่อว่า ต้องอายุตั้งแต่ 7 ขวบเป็นต้นไปจึงจะสามารถปฏิบัติธรรมจนถึงขั้นบรรลุอรหันต์ได้ ซึ่งที่มาของความเชื่อดังกล่าวนั้น มาจากคัมภีร์ มิลินทปัญหา (ในเมณฑกปัญหา วรรคที่ ๙ ปัญหาที่ ๓ ถามถึงการสำเร็จธรรมของบุคคล)
http://www.dharma-gateway.com/dhamma/dhamma-25-18.htm

แต่ว่าความเชื่อดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้อง ! ! !

เพราะอะไร? เพราะจากสถิติที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกมีผู้ที่บรรลุอรหันต์โดยมีอายุน้อยกว่า 7 ขวบเสียอีก ! ! !

บางท่านบรรลุอรหันต์ตอน 5 ขวบก็มี  ดังเช่น

1. พระ ปทุมเถระ

ท่านนี้ ในอดีตเมื่อแสนกัปทึ่แล้วเคยพบ พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตรพุทธเจ้า ได้เกิดความเลื่อมใส จึงโยนดอกบัวพร้อมด้วยธงขึ้นไปในอากาศเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงรับดอกบัวไว้  และได้พยากรณ์ว่า จะได้เป็นเจ้าแห่งเทวดาตลอด 30 กัป เป็นพระราชา 700 กัป และจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ และจะได้เป็นทายาทในธรรมของพระโคดมพุทธเจ้าในอีกแสนกัปข้างหน้า

เมื่อผ่านไปแสนกัปในสมัยพระโคดมพุทธเจ้า  พระปทุมเถระได้บรรลุอรหันต์ตอนอายุ 5 ขวบพร้อมด้วย ปฏิสัมภิทา 4   วิโมกข์ 8  และอภิญญา 6

(อ้างอิงจาก ปทุมเถราปทาน)

2. พระ จันทนมาลิยะ เถระ หรือ พระ วัลลิยะ เถระ

ท่านนี้เคยบูชาพระสุเมธพุทธเจ้าเมื่อ 30000 กัปที่แล้ว ด้วยการปูหนังสัตว์ให้นั่ง และ ขึ้นภูเขาเก็บเอาผลมะม่วง ดอกรังอันสวยงามและแก่นจันทน์อันมีค่ามาก และรีบกอบเอาทั้งหมดเข้าไปเฝ้าพระผู้นำของโลก ถวายผลไม้แด่พระพุทธเจ้า แล้วเอาดอกรังบูชา โดยมีจิตเลื่อมใสมีใจโสมนัส มีปีติอันไพบูลย์ ได้เอาแก่นจันทน์ลูบไล้แล้ว ถวายบังคมพระศาสดา

พระผู้นำของโลกพระนามว่าสุเมธะ ประทับนั่งบนหนังสัตว์ ได้ทรงพยากรณ์กรรมในครั้งนั้นว่า ด้วย  การถวายผลไม้กับของหอมและดอกไม้ทั้งสองอย่างนี้ ผู้นี้จักรื่นรมย์  อยู่ในเทวโลก ๒,๕๐๐ กัป เขาจักเป็นผู้มีความดำริทางใจไม่บกพร่อง ยังอำนาจให้เป็นไป ในกัปที่ ๒๖,๐๐๐ จักไปสู่ความเป็นมนุษย์   จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็น   ขอบเขต วิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตพระนครอันมีนามว่าเวกระให้พระนครนั้นจักสำเร็จด้วยทองล้วนๆ ประดับประดาด้วยรัตนะนานาชนิด เขาจักท่องเที่ยวไปยังกำเนิดทั้งหลายโดยอุบายนี้เทียว เขาจักเป็นผู้ถึงความสุขในทุกภพ คือ ในความเป็นเทวดาหรือมนุษย์ เมื่อถึงภพสุดท้ายเขาจักเป็นบุตรพราหมณ์ จักออกบวชเป็นบรรพชิตจักเป็นผู้ไม่มีวิญญัติปัจจัย ไม่มีอาสวะปรินิพพาน

ในภพสุดท้ายนั้น ท่านได้ออกบวชเป็นบรรพชิตอายุ ๕ ขวบ เมื่อปลงผมเสร็จก็ได้บรรลุอรหัตผล

(อ้างอิงจาก จันทนมาลิยเถราปทาน และ อรรถกถา วัลลิยเถรคาถา)

3. พระ เบญจสีลสมาทานนิยะ เถระ

ท่านนี้ เมื่อหลายกัปนานมาแล้ว มีพระพุทธเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสีอุบัติขึ้น ตอนนั้นพระ เบญจสีลสมาทานนิยะ เถระ เกิดเป็นคนยากไร้ ไม่มีของทำบุญ และบวชไม่ได้เพราะต้องทำงานรับจ้างอยู่ในนครจันทวดี จึงได้เข้าไปหาพระรูปหนึ่งชื่อว่า นิสภะ แล้วขอสมาทานรักษาศีล 5 ตลอดอายุขัย 100000 ปี หลังจากตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้เป็นพระอินทร์ 30 ครั้ง ต่อมาเกิดเป็นคนก็ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ 75 ครั้ง เป็นพระราชานับครั้งไม่ถ้วน 

ในชาติสุดท้ายนี้ได้มาเกิดในวรรณะพราหมณ์ ในเมืองไพสาลี มีฐานะมั่งคั่ง ครั้งหนึ่งช่วงใกล้เข้าพรรษา พ่อแม่ได้พาไปรับศีล 5 และปฏิบัติธรรมจนบรรลุอรหันต์พร้อมด้วย ปฏิสัมภิทา 4   วิโมกข์ 8  และอภิญญา 6 ตอนกำลังนั่งอยู่บนอาสนะ ขณะมีอายุได้เพียง 5 ขวบเท่านั้น เมื่อพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันทราบ ก็ประทานอุปสมบทให้

(อ้างอิงจาก เบญจสีลสมาทานนิยเถราปทาน)

ที่ผ่านมา จะเห็นว่าแค่อายุ 5 ขวบบรรลุอรหันต์นี่ก็น่าทึ่งแล้ว แต่ยังไม่หมดมีน่าทึ่งกว่านั้นอีกคือ บรรลุอรหันต์ตั้งแต่ 4 ขวบ!!!!!!!!!

ท่านนี้ชื่อ  พระ เอกทีบียะ เถระ

เมื่อ 94 กัปที่แล้ว ท่านผู้นี้ได้เคยจุดประทีปให้สว่างตลอดทั้งคืนเพื่อ บูชาเชิงตะกอนเผาพระศพของพระพุทธเจ้าพระนามว่า สิทธัตถะ ที่พึ่งจะปรินิพพานไปไม่นาน เมื่อตายแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  และมีตาทิพย์ ได้เกิดเป็นเทวดา 77 ครั้งเสวยราชสมบัติในเทวโลก 31 ครั้ง  เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์  28 ครั้ง เป็นพระราชานับครั้งไม่ถ้วน

แม้ในชาติสุดท้ายตอนอยู่ในครรภ์ก็ยังมีตาทิพย์มองเห็นได้ชัดเจน พออายุได้ 4 ขวบก็ออกบวชและสำเร็จอรหันต์โดยใช้เวลาปฏิบัติธรรมไม่ถึงครึ่งเดือน!!!!!

(อ้างอิงจาก เอกทีบียเถรปทานที่ ๖)

ถ้าท่านใดอ่านบทความนี้แล้วมีอายุมากกว่าสี่ขวบ ก็ขอให้มั่นใจได้ว่าท่านสามารถปฏิบัติธรรมจนบรรลุธรรมได้นะครับ ถ้าหากว่าท่านไม่เคยทำอนันตอริยกรรมมาก่อนในชาติปัจจุบัน

โพสท์ใน การปฏิบัติธรรม, ธรรมะและศาสนา, ศีล | 1 ความเห็น

When “Science” meet “Dhamma” at the same point.

วันก่อนผมได้อ่านหนังสือ ‘What Do You Care What Other People Think?’ ซึ่งเป็นเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งคือ Professor Dr. Richard P. Feynman (ศาสตราจารย์ ดร. ริชาร์ด พี ฟายน์แมน) ทำให้ผมทึ่งในความคิดของท่านมากในมุมมองของท่านที่มีต่อโลก และที่ทึ่งยิ่งกว่านั้นคือ ท่านได้เห็นธรรมชาติตามหลักวิทยาศาสตร์ตามความเป็นจริง ได้ใกล้เคียงกับมุมมองของหลักธรรมทางศาสนาพุทธอย่างมาก โดยที่ท่านไม่น่าจะเคยศึกษาหลักธรรมทางศาสนาพุทธถึงขั้นลึกซึ้งมาก่อน  ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ตอนช่วงท้ายเล่มดังนี้

For instance, the scientific article may say, “The radioactive phosphorus content of the cerebrum of the rat decreases to one-half in a period of two weeks.”  Now what does that mean? 

     It means that phosphorous that is in the brain of a rat – and also in mine, and yours – is not the same phosphorus as it was two weeks ago.  It means the atoms that are in the brain are being replaced: the ones that were there before have gone away. 

        So what is this mind of ours: what are these atoms with consciousness?  Last week’s potatoes!  They now can remember what was going on in my mind a year ago – a mind which has long ago been replaced. 

     To note that the thing I call my individuality is only a pattern or dance, that is what it means when one discovers how long it takes for the atoms of the brain to be replaced by other atoms.  The atoms come into my brain, dance a dance, and then go out – there are always new atoms, but always doing the same dance, remembering what the dance was yesterday. 

ซึ่งแปลได้ว่า

ยกตัวอย่างเช่น ในบทความทางวิทยาศาสตร์ได้กล่าวไว้ว่า “องค์ประกอบของสารฟอสฟอรัสกัมมันตรังสีในสมองส่วนซีรีบรัมของหนูจะลดลงครึ่งนึง ในช่วงระยะเวลา ทุกๆ 2 สัปดาห์” ประโยคนี้หมายความว่ายังไง?

     มันหมายความว่า สารฟอสฟอรัสที่อยู่ในสมองของหนู และที่อยู่ในสมองของผมและของคุณนั้น ไม่ใช่สารฟอสฟอรัสตัวเดิมที่มันเคยเป็นเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งก็คืออะตอมที่อยู่ในสมองนั้นจะถูกเปลี่ยนใหม่ส่วนอะตอมเดิมที่มีอยู่ก่อนนั้นจะหายไป 

        ดังนั้นแล้วจิตใจของเราคืออะไร? อะตอมหล่านี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกที่เราเป็นอยู่หรือ? มันฝรั่งที่กินไปเมื่ออาทิตย์ก่อน ตอนนี้มันกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสมอง (เนื่องจากในมันฝรั่งมีอะตอมของฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบ) และมันสามารถทำหน้าที่จดจำสิ่งต่างๆในจิตใจของผมเมื่อปีที่แล้วได้ และมันก็ถูกแทนที่ด้วยอะตอมใหม่มาอย่างต่อเนื่องยาวนานแสนนาน

     สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ผมเรียกมันเป็นการส่วนตัวว่าเป็น รูปแบบ หรือ การเต้นรำ เท่านั้น ซึ่งมันหมายความว่า การที่มีใครคนหนึ่งค้นพบว่าอะตอมฟอสฟอรัสอะตอมนึงใช้เวลาอยู่ในสมองนานเท่าไหร่ก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยอะตอมอื่นนั้น ทำให้เรารู้ว่า อะตอมต่างๆที่เข้ามาในสมองของเรา แล้วมันก็มาเต้นรำอยู่ในสมองของเราอยู่ชั่วคราวช่วงเวลาหนึ่งแล้วมันก็ออกไปจากสมองเรา และก็จะมีอะตอมใหม่ๆ ที่เข้ามาเต้นรำในสมองของเราอยู่เสมอโดยจำรูปแบบการเต้นรำของอะตอมตัวก่อนที่เคยทำไว้ในสมองเราเมื่อวันก่อน 

อ่านแล้วทำให้ผมรู้สึกทึ่งในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลท่านนี้มาก เพราะกระตุ้นให้มองเข้ามาในร่างกายของตนเอง และสิ่งมีชีวิตร่วมโลกอื่นๆ ว่า มันไม่คงที่ (ตรงกับหลักธรรมที่ว่า อนิจจัง) เดี๋ยวก็มีอะตอมเข้ามาแล้วก็เสื่อมสลายไป  และเมื่ออะตอมตัวเข้ามาแล้วก็ไม่ได้อยู่นิ่งๆ กับที่ในสมอง แต่มีการสั่นไหวเคลื่อนไหว อยู่ตลอดเวลา ดังที่ ศ.ดร. ริชาร์ด ไฟน์แมนกล่าวไว้ว่า เหมือนกับการเต้นรำ (ตรงกับหลักธรรมที่ว่า ทุกขัง เพราะทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้) ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทำให้เรารู้ว่า การที่เรามองเห็นเป็นสมองบ้าง เป็นร่างกายบ้าง แท้จริงมันคือ กลุ่มของอะตอมที่เรียงกันเป็นรูปร่างที่เราเห็นนั่นเอง แท้จริงก็คืออะตอมของธาตุต่างๆ ที่มาเรียงกันนั่นเอง ทำให้ไม่เห็นว่าร่างกายอวัยวะใดๆนั่นเป็นตัวตนแต่อย่างใด (ตรงกับหลักธรรมที่ว่า อนัตตา) ซึ่งลักษณะที่ว่ามานี้มีร่วมกันในทุกสรรพสิ่งที่เรารู้จักในโลกนี้ ในจักรวาลนี้ ในเอกภพนี้ทั้งสิ้น ลักษณะที่มีร่วมกันในทุกสิ่งดังที่ว่ามานี้เรียกว่า ไตรลักษณ์ ประกอบด้วย ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา 

จะเห็นได้ว่า เมื่อศึกษาธรรมชาติของสรรพสิ่งในทางวิทยาศาสตร์แล้ว ที่สุดของความรู้นั้นก็จะไปตรงกับหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ค้นพบและสั่งสอนสัตว์โลกมาอย่างน้อย 2600 กว่าปีมาแล้ว 

แต่ทำไมคนที่ศึกษาวิทยาศาตร์ถึงขั้นสุดยอดขององค์ความรู้ในยุคสมัยนั้นๆ จนได้รับรางวัลโนเบล
อันทรงเกียรติแล้วอย่าง อัลเบิร์ด ไอน์สไตน์ หรือ ริชาร์ด ไฟน์แมน แล้วทำไมยังไม่บรรลุธรรมตามที่พระพุทธเจ้าสอน?

นั่นก็เป็นเพราะการศึกษาทางวิทยาศาสตร์นั้น จะเป็นการศึกษาเน้นไปที่ รูปธรรม คือสิ่งที่สัมผัสจับต้องได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือตา หู จมูก ลิ้น และ กายเท่านั้น แม้บางอย่างไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเนื้อโดยตรงอย่างอะตอม ก็สามารถใช้เครื่องมือต่างๆทางวิทยาศาสตร์อันเป็นการขยายขอบเขตความรับรู้ ทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทำให้สามารถรับรู้ได้ว่า รูปธรรมบางอย่างที่ไม่อาจรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 อย่างอะตอมนั้นมีอยู่จริง เป็นต้น

แต่การที่จะบรรลุธรรมได้นั้น พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า การเข้าใจและเห็นอย่างถูกต้องว่า รูปธรรมต่างๆ เป็นไตรลักษณ์นั้น ยังไม่เพียงพอต่อการบรรลุธรรม นอกจากนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสสอนใน “อัสสุตวตาสูตร” อีกว่า แม้คนที่ไม่เคยฟังธรรมของพระองค์มาก่อน ก็สามารถเห็นได้เข้าใจได้ว่า “รูปธรรมนั้นไม่เที่ยงแท้คงทน” แต่ไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่า นามธรรมที่หลงยึดว่าเป็นตัวตนของเรานั้นตกอยู่ใต้กฏแห่งไตรลักษณ์ จุดนี้เองจึงเป็นเครื่องกั้นที่ทำให้ ผู้ที่ไม่เคยฟังคำสอนและวิธิปฏิบัติธรรมตามหลักที่พระพุทธเจ้าสอนนั้น ไม่สามารถบรรลุธรรมได้เลย และพระพุทธเจ้ายังตรัสสอน
สุภัททะปริพาชกก่อนปรินิพพานไม่นานดังใจความว่า “ในศาสนาอื่นนั้น ไม่มีผู้ที่บรรลุธรรมตัดกิเลสเป็นพระอริยบุคคลขั้นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ แต่จะมีเฉพาะในพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะคำสอนอื่นนอกจากพุทธศาสนาไม่มีคำสอนในเรื่องวิถีทางให้พ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง คือ การรู้รูปธรรมและนามธรรมเป็นไตรลักษณ์ นั่นเอง”

ซึ่งนามธรรม ที่ทางวิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบันนี้ยังไม่ได้ศึกษาจนทะลุปรุโปร่งก็คือ ความรู้สึก (เวทนา) ความจำได้หมายรู้ (สัญญา) ความคิดปรุงแต่ง (สังขาร) และสภาพที่รับรู้สิ่งต่างๆ (วิญญาณ) พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ทั้งรูปธรรม และ นามธรรม ต่างๆนั้น ต่างก็ตกอยู่ใต้กฏของไตรลักษณ์ทั้งสิ้น เมื่อรู้ตามความเป็นจริงอย่างแจ่มแจ้งแล้ว จิตก็จะคลายความยึดถือในรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลาย ก็จะบรรลุธรรมในขณะที่จิตปล่อยความยึดมั่นในรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายนั่นเอง

โพสท์ใน ธรรมะและศาสนา | 2 ความเห็น

เรื่องนี้มีที่มาจากหนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ที่เรียบเรียงโดย หลวงตามหาบัว 
(สามารถอ่านได้ใน link ต่อไปนี้ http://www.luangta.com/thamma/thamma_book_detail.php?cgiBookID=4 )

ซึ่งในหนังสือดังกล่าวนั้น มีหลายตอนที่มีเนื้อหาใจความว่า  หลวงปู่มั่นสามารถเห็น
– พระอรหันต์ที่นิพพานแล้วมาแสดงธรรมให้ฟังบ้าง
– พระอรหันต์ที่นิพพานแล้วมาแสดงท่าทางขณะที่นิพพานให้ดูบ้าง
– หรือแม้แต่เห็นกระทั่งพระพุทธเจ้าและอรหันตสาวกเสด็จมาแสดงธรรมให้ฟังบ้าง

เนื้อหาดังกล่าวจึงเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็ได้มีปราชญ์ท่านหนึ่งคือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ได้ เขียนแสดงความเห็นในหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ฉบับลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๑๕ ดังรายละเอียดตอนหนึ่งดังนี้

เมื่อพระอาจารย์มั่นอยู่ในถ้ำ มีพระอรหันต์หลายองค์มาสนทนาธรรมกับท่าน นอกจากสนทนาธรรมแล้ว พระอรหันต์ยังแสดงท่านิพพานของแต่ละองค์ให้พระอาจารย์มั่นดูอีกด้วย เมื่ออ่านถึงตอนนี้แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับใจนั้นเกินไปกว่าความกังวล แต่เป็นความเดือดร้อนทีเดียว พระอรหันต์ที่นิพพานไปแล้ว มาสนทนาธรรมกับคนที่ยังไม่นิพพาน แล้วแสดงท่านิพพานให้ดูนั้น ไม่มีในพระบาลีเป็นแน่นอนครับ

เมื่ออุปสีวมานพมาทูลถามปัญหาพระพุทธเจ้าเรื่องพระอรหันต์นั้น อุปสีวมานพได้ทูลถามว่าที่ว่าพระอรหันต์ดับไปแล้วนั้น ท่านดับโดยสิ้นเชิง หรือว่าเป็นแต่ไม่มีตัวหรือจักเป็นผู้ตั้งอยู่ยั่งยืนหาอันตรายมิได้

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ประมาณแห่งเบญจขันธ์ของผู้ที่ดับขันธปรินิพพานแล้ว มิได้มีกิเลสซึ่งเป็นเหตุกล่าวผู้นั้นว่าไปเกิดเป็นอะไร ของผู้นั้นก็มิได้มี เมื่อธรรมทั้งหลายอันผู้นั้นขจัดได้หมดไปแล้ว ก็ตัดทางแห่งถ้อยคำที่จะพูดถึงผู้นั้นว่าเป็นอะไรเสียทั้งหมด หมายความว่า พระอรหันต์นั้นดับถึงขนาดที่ไม่มีเรื่องที่จะพูดถึงท่านอีกต่อไป

(สามารถอ่านฉบับเต็มได้ใน ภาคผนวกท้ายเล่มของ หนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ที่เรียบเรียงโดย หลวงตามหาบัว)

หลังจากนั้น เพียง 8 วัน คุณ จิตติ นพวงศ์ ก็ได้เขียนตอบวิจารณ์ความเห็นของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ในหนังสือพิมพ์ “ศรีสัปดาห์” ฉบับที่ ๑๐๗๕ วันศุกร์ที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๑๕ ดังรายละเอียดตอนหนึ่งดังนี้

ก็ถูกต้อง ที่ไม่มีปรากฏในพระบาลีว่าพระอรหันต์ที่นิพพานไปแล้วจะมาสนทนาธรรมกับคนที่ยังไม่นิพพาน แต่ก็ไม่มีปรากฏในพระบาลีเลยว่า พระอรหันต์ที่นิพพานแล้วจะมาทำเช่นนั้นไม่ได้เป็นอันขาด ในกรณีนี้ เหตุผลต้องอยู่ที่ตรงนี้ อะไรที่ไม่ถูกนำมาเอ่ยถึง ไม่จำเป็นต้องไม่มีอยู่ ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่แท้จริงทั้งหลายท่านทราบ ในขณะที่ปราชญ์จอมปลอมไม่อาจรู้ได้ ว่านอกจากที่ปรากฏในพระบาลียังมีอะไร ๆ ที่อัศจรรย์วิจิตรพิสดารอีกมากนัก ผู้ที่เกิดมาไม่เคยปฏิบัติธรรม หมกมุ่นวุ่นวายอยู่แต่กับความสกปรกโสโครกทุกลมหายใจเข้าออก จะรู้จักสิ่งบริสุทธิ์สูงส่งหาใดเสมอเหมือนมิได้ได้อย่างไร

ระหว่างพระกับมาร ใครหลงเชื่อมาร มารก็พาไปนรกเท่านั้น ท่านอาจารย์มั่นก็ตาม ท่านอาจารย์พระมหาบัวก็ตาม ท่านเป็นพระ หรือถ้าไม่อยากจะเชื่อใครทั้งนั้นในเรื่องนี้ อยากจะเชื่อตัวเองก็ต้องทำตัวเองให้เหมือนท่านอาจารย์ท่านเสียก่อน ให้เห็นเท็จและจริงด้วยตัวเองเสียก่อนนั่นแหละ แล้วจึงควรอ้าปากวิจารณ์เรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่พ้นต้องเป็นคนโง่ตัวใหญ่ ที่คิดจะยกตัวให้สูงขึ้นด้วยการพยายามปีนป่ายเหยียบย่ำกระทืบยอดเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ ท่ามกลางสายตาของพุทธศาสนิกชน จะพ้นสภาพย่อยยับไปไม่ได้เลย

การเข้าใจความพระบาลีให้ถูกต้องนั้น อย่าคิดว่าง่าย ต่อให้ได้ชื่อว่า เป็นปราชญ์ทางโลก อ่านหนังสือหมดโลกก็ตาม ถ้าพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์นิพพานแล้วจะต้องดับสิ้น ถึงขนาดที่ไม่มีเรื่องจะพูดถึงท่านได้อีกต่อไปจริง แล้วทุกวันนี้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มีอยู่อย่างไรในเมื่อท่านนิพพานไปเสียแล้ว หรือทุกวันนี้ไม่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เสียแล้ว ที่ให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งสูงสุดกันนั้น หมายถึงให้ถือลม ถือแล้งหรอกหรือ ไม่มีความจริงกระนั้นหรือ

ปฏิเสธเสียก่อนว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์สรณะสูงสุดของเราไม่มีในปัจจุบัน ปฏิเสธเสียก่อนว่าพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพไม่มีในปัจจุบันแล้วนั่นแหละจึงปฏิเสธเรื่องราวระหว่างพระอรหันต์ที่ท่านนิพพานแล้วกับท่านพระอาจารย์มั่นได้

(สามารถอ่านฉบับเต็มได้ใน ภาคผนวกท้ายเล่มของ หนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ที่เรียบเรียงโดย หลวงตามหาบัว)

ส่วนคำตอบของหลวงตามหาบัว นั้นผู้เขียนไม่ขอวิจารณ์ แต่จะยกหลักฐานจากพระพุทธพจน์และคำสอนของครูบาอาจารย์พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต่างๆ มาแสดง ให้เห็นว่า ข้อเท็จจริงนั้นเป็นเช่นไร ในประเด็นเรื่อง “การที่มีผู้ใดอ้างว่าสามารถติดต่อกับพระอรหันต์ที่ดับขันธปรินิพพานไปแล้ว”  (การดับขันธ์ปรินิพพาน เรียกอีกอย่างว่า การเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆว่า ตาย นั่นเอง)

ทั้งนี้ผู้เขียนเห็นถึงประโยชน์ถึงการเขียนเรื่องนี้ เพื่อ ป้องกันความเชื่อหลงงมงาย ใน สิ่งที่ครูบาอาจารย์ เชื่ออย่างไร้เหตุผล จนเกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ และส่งผลร้ายต่อวงการพระพุทธศาสนาโดยรวม

โดยสรุปเป็นประเด็นต่างๆดังนี้
——————————————————————————————————
1. ในพระไตรปิฎกไม่ปรากฎว่า เรื่องราวที่ว่า พระอรหันต์ที่ดับขันธปรินิพพานไปแล้ว จะมาติดต่อกับ ผู้ที่ยังดำรงขันธ์อยู่ จริงหรือ?

คำตอบคือ จริงที่ว่า เรื่องราวเช่นนี้ ไม่มีในพระไตรปิฎก 

แต่เราไม่สามารถนำข้อความที่ว่า “ไม่มีในพระไตรปิฎก”  มาใช้สรุปประเด็นเรื่อง “การที่มีผู้ใดสามารถติดต่อกับพระอรหันต์ที่ดับขันธ์นิพพานไปแล้ว” ได้ว่า เป็นความจริงหรือไม่จริง

เพราะ สิ่งที่ไม่ได้ระบุไว้ในพระไตรปิฎก อาจจะเป็นความจริงหรือไม่เป็นความจริงก็ได้
——————————————————————————————————
2. แล้วการที่ผู้ยังดำรงขันธ์อยู่หรือยังมีชีวิตอยู่ ยังสามารถติดต่อกับ พระอรหันต์ที่ดับขันธปรินิพพานไปแล้ว เป็นความจริงหรือไม่?

คำตอบคือ ไม่จริง !!!!!!!!!!!!!

ที่ไม่จริง ไม่ใช่เพราะว่า ไม่มีในพระไตรปิฎก แต่ เพราะว่าเป็นธรรมดาเช่นนั้นเอง

ดังนั้นการที่ คุณ จิตติ กล่าวว่า “แต่ก็ไม่มีปรากฏในพระบาลีเลยว่า พระอรหันต์ที่นิพพานแล้วจะมาทำเช่นนั้นไม่ได้เป็นอันขาด ” จึงเป็นการกล่าวแบบหุนหันพลันแล่นรีบร้อนอยากจะตอบโต้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยวู่วาม และงมงาย โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้เช่นไรดังบันทึกในพระไตรปิฎก

สิ่งเหล่านี้พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสสอนไว้หลายครั้งดังบันทึกในพระไตรปิฎก ว่า เป็นไปไม่ได้ที่พระอรหันต์ซึ่งนิพพานแล้วจะมาติดต่อกับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ (การที่ จิตติ นพวงศ์ บอกว่า “แต่ก็ไม่มีปรากฏในพระบาลีเลยว่า พระอรหันต์ที่นิพพานแล้วจะมาทำเช่นนั้นไม่ได้เป็นอันขาด ”   จึงเป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้อง เพราะพระพุทธเจ้าท่านระบุไว้ตรงๆว่าเป็นไปไม่ได้)

ซึ่งการที่เชื่อว่า ผู้ยังดำรงขันธ์อยู่หรือยังมีชีวิตอยู่ ยังสามารถติดต่อกับ พระอรหันต์ที่ดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ได้จริง นั้นเป็น มิจฉาทิฏฐิประเภทหนึ่งที่ มีชื่อเรียกว่า สัสสตทิฏฐิ (อ่านว่า สัด-สะ-ตะ-ทิด-ถิ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_line.php?A=3492&Z=3492 )

หลักฐานเหล่านี้มีบันทึกในพระไตรปิฎก หลายแห่ง ดังเช่น
1) เรื่อง อุปสีวมาณพ (อุ-ปะ-สี-วะ-มา-นบ) ดังที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ได้อ้างอิงถึง ใน อุปสีวปัญหาที่ ๖ 
(อ่านเนื้อหาทั้งหมดได้ที่ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=25&A=11154&Z=11193 )

มีเนื้อหาโดยสรุปคือ พระพุทธเจ้าสอนอุปสีวมาณพ ให้มีสติแล้วเจริญอรูปฌานขั้นอากิญจัญญายตนะ เพื่อละความอยากในกาม (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) แล้วทำวิปัสสนาโดยการดูให้เห็นตัณหาที่กำลังสิ้นไป แม้ตายไปแล้ว ยังไม่สิ้นกิเลส ก็สามารถไปปฏิบัติต่อใน ขณะที่เป็นอรูปพรหมชั้น อากิญจัญญายตนพรหม จนถึงขั้น “เป็นผู้ไม่หวั่นไหวในธรรม”   จนพ้นจาก “นามกาย” (พ้นจากนามขันธ์ในอรูปฌาน บรรลุอรหันตผลสิ้นกิเลสในอรูปฌาน)  เมื่อหมดอายุขัยในอรูปพรหมชั้นนั้นแล้ว ย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่ถึงการนับ เปรียบเหมือนเปลวไฟอันถูกกำลังลมพัดไป แล้ว ย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่ถึงการนับ เมื่อธรรม (มีขันธ์เป็นต้น) ทั้งปวง ท่านเพิกถอนขึ้นได้แล้ว แม้ทางแห่งถ้อยคำทั้งหมด
ก็เป็นอันท่านเพิกถอนขึ้นได้แล้ว ฯ (คือหมดสมมุติที่จะให้พูดอีก)

ดังนั้นการที่ คุณ จิตติ นพวงศ์เขียนว่า

“พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์นิพพานแล้วจะต้องดับสิ้น ถึงขนาดที่ไม่มีเรื่องจะพูดถึงท่านได้อีกต่อไปจริง แล้วทุกวันนี้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มีอยู่อย่างไรในเมื่อท่านนิพพานไปเสียแล้ว” 

แม้จะเป็นการแสดงเห็นที่คัดค้านเนื้อความที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ อ้างอิงพระไตรปิฎก แต่หารู้ไม่ว่า ตัว คุณจิตติ เองก็ได้ค้านสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ เพราะความเข้าใจผิด ในเนื้อหาที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ อ้างถึง 

ทั้งนี้ เรื่องการมีอยู่ของพระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์ ที่คุณจิตติ อ้างถึงนั้น เป็นคนละประเด็นกับ เรื่องวิมุตติ อันเป็นสิ่งที่พ้นจากสมมุติที่จะให้พูดอีก ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนอุปสีวมาณพว่า  “แม้ทางแห่งถ้อยคำทั้งหมด ก็เป็นอันท่านเพิกถอนขึ้นได้แล้ว”

นั่นคือ พระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์ นั้นมีจริง ทั้งนี้พระพุทธนั้น ไม่ได้มีอยู่ในแง่ของความเป็นตัวตนของเจ้าชายสิทธัตถะ หรือ สมณโคดม แต่มีอยู่ในแง่ของสภาวะแห่งความสิ้นกิเลสและความบริสุทธิของจิต ซึ่งผู้เขียนก็เชื่อว่าในปัจจุบันนี้ สภาพจิตที่บริสุทธิ์พ้นจากสมมุตินั้นก็ยังมีอยู่ในโลก ซึ่งทางดำเนินให้ถึงภาวะที่จิตบริสุทธิ์จากกิเลสก็ยังมีอยู่คือหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ดีแล้ว ส่วนพระสงฆ์คือผู้ที่สามารถปฏิบัติตามธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้จนจิตบริสุทธิ์เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า ก็ยังมีอยู่ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า ตราบใดที่ภิกษุยังปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้อง โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์

ส่วนพระอรหันต์หรือผู้ที่สิ้นกิเลส และดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ก็ไม่มีขันธ์ที่จะติดต่อพูดคุยอันเป็นสมมุติในโลกสมมุติอีกต่อไป จึงไม่สามารถที่จะมาติดต่อกับผู้ที่ยังดำรงขันธ์ได้อีกแล้ว

2) หลักฐานใน อัคคิวัจฉโคตตสูตร

( http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=13&A=4316&Z=4440 )

พระพุทธเจ้า เปรียบเทียบพระอรหันต์ดับขันธ์เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานไปแล้ว
อุปมาเหมือนไฟที่หมดเชื้อเพลิงและดับไปแล้ว ไม่ควรตอบว่าไฟไปทางทิศเหนือ ทิศใต้หรือทิศใดๆ เพราะไฟที่ดับก็ดับไปแล้ว ไม่ใช่ไฟอีกต่อไป

บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะ
รูป/เวทนา/สัญญา/สังขาร/วิญญาณ ใด รูป/เวทนา/สัญญา/สังขาร/วิญญาณ นั้นตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่า รูป/เวทนา/สัญญา/สังขาร/วิญญาณ มีคุณอันลึก อันใครๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก. เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้. 

3) หลักฐานใน พรหมชาลสูตร 
( http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=9&A=0&Z=1071&pagebreak=0 )

ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนในพรหมชาลสูตร อย่าว่าแต่ สนทนาด้วยเลย แค่เห็น ยังไม่สามารถเห็นได้เลย พระพุทธเจ้าสอนไว้ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายของตถาคต มีตัณหาอันจะนำไปสู่ภพขาดแล้วยังดำรงอยู่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักเห็นตถาคตชั่วเวลาที่กายของตถาคตยังดำรงอยู่ เมื่อกายแตกสิ้นชีพแล้วเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักไม่เห็นตถาคต เปรียบเหมือนพวงมะม่วง เมื่อขาดจากขั้วแล้ว ผลใดผลหนึ่งติดขั้วอยู่ ย่อมติดขั้วไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายของตถาคตมีตัณหาอันจะนำไปสู่ภพ ขาดแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยังดำรงอยู่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักเห็นตถาคตได้ก็ชั่วเวลา ที่กายของตถาคตยังดำรงอยู่ เมื่อกายแตกสิ้นชีพแล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักไม่เห็นตถาคต.

4) หลักฐานจาก ทัพพสูตรที่ 1 และ ทัพพสูตรที่ 2
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=25&A=4353&Z=4372&pagebreak=0
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=25&A=4373&Z=4404&pagebreak=0 )

ในทัพพสูตรนั้นมีรายละเอียดกล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระทัพพมัลลบุตรดับขันธ์เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน (หรือดับขันธ์ปรินิพพาน) เมื่อพระทัพพมัลลบุตรนิพพานแล้ว พระพุทธเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานว่า

รูปกายได้สลายแล้ว สัญญาดับแล้ว เวทนาทั้งปวงเป็นธรรมชาติเย็นแล้ว สังขารทั้งหลายสงบแล้ว วิญญาณถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ฯ

คติของพระขีณาสพทั้งหลาย ผู้หลุดพ้นแล้วโดยชอบ ข้ามเครื่องผูกคือกามและโอฆะได้แล้ว ถึงแล้วซึ่งความสุขอันหา ความหวั่นไหวมิได้ ไม่มีเพื่อจะบัญญัติ เหมือนคติแห่งไฟลุกโพลงอยู่ที่ภาชนะสัมฤทธิ์เป็นต้น อันนายช่างเหล็กตีด้วยค้อนเหล็ก ดับสนิท ย่อมรู้ไม่ได้ ฉะนั้น ฯ

นั่นคือพระอรหันต์ที่ดับขันธ์เข้าสู่นิพพานชนิดอนุปาทิเสสนิพพานแล้วนั้น (เรียกง่ายๆว่าตาย) ขันธ์ทั้ง 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดับสนิท และไม่มีขันธ์ 5 ใหม่ขึ้นมาอีกเพราะหมดสิ้นเชื้อแห่งอวิชชาอันที่จะก่อให้เกิดการปรุงแต่งให้มีขันธ์ขึ้นมาเป็นทุกข์อีก

5) หลักฐานจากเรื่องสิกขาบทเล็กน้อยและเหตุการณ์ในตอนปฐมสังคายนา

ในพระวินัยปิฎก เรื่องสิกขาบทเล็กน้อย  บันทึกไว้ถึงตอน เมื่อพระพุทธเจ้าจวนจะปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระอานนท์ไว้ว่า “ดูกรอานนท์ เมื่อเราล่วงไป สงฆ์หวังอยู่จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียก็ได้ ”
( http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=7&A=7440&Z=7459&pagebreak=0 )

เมื่อถึงเวลาสังคายนา ที่พระเถระในประชุมสงฆ์ได้มีความเห็นต่างกันไปถึงคำว่า “สิกขาบทเล็กน้อย” แต่ไม่มีองค์ไหนเห็นว่า สิกขาบทขั้นปาราชิก เป็นสิกขาบทเล็กน้อย  เมื่อไม่รู้ว่าแค่ไหนถึงเรียกว่า “สิกขาบทเล็กน้อย”  ที่ประชุมสงฆ์ในการทำสังคายนาครั้งแรกจึงลงมติกันว่าจะไม่ถอนบัญญัติที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แม้แต่ข้อเดียว ดังนี้

สงฆ์
-ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ
-ไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว
– พึงสมาทานประพฤติ ในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว
นี้เป็นญัตติ
(  http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=7&A=7460&Z=7491&pagebreak=0 )

และ พระเถระทั้งหลายจึงตำหนิพระอานนท์ว่าทำไม่ดี (ทุกฺกฏ) โทษฐานที่ไม่ถามพระพุทธเจ้าก่อนปรินิพพาน (ไม่ได้ปรับอาบัติทุกกฏดังที่พระไตรปิฎกฉบับหลวงแปลผิด) ดังหลักฐานในพระบาลีต่อไปนี้

  อถโข   เถรา   ภิกฺขู  อายสฺมนฺตํ  อานนฺทํ  เอตทโวจุํ
อิทนฺเต   อาวุโส   อานนฺท   ทุกฺกฏํ   ยํ   ตฺวํ   ภควนฺตํ   น   ปุจฺฉิ
กตมานิ    ปน    ภนฺเต    ขุทฺทานุขุทฺทกานิ    สิกฺขาปทานีติ   เทเสหิ
ตํ   ทุกฺกฏนฺติ

( http://www.84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=7&item=622&items=1 )

ดังนั้นจึงเป็นข้อคิดว่า
เมื่อพระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็ไม่มีใครที่สามารถไปหาท่านเพื่อสนทนาธรรม,ถามปัญหา หรือถวายข้าวทิพย์กับท่านได้อีก รวมถึงจะไม่มีพระพุทธเจ้าที่เป็นตัวตนจริงๆแบบครั้งยังทรงพระชนม์แวะมาเยี่ยมเยียนตอบปัญหาที่สงสัยของใครก็ตาม แม้แต่พระอรหันต์ที่ทรงอภิญญา,ปฏิสัมภิทา 500 องค์ที่ทำสังคายนาครั้งแรกและทันเห็นพระพุทธเจ้าตอนยังทรงพระชนม์ชีพก็ตาม

ซึ่งการที่ไม่ศึกษาในสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ในดี เอาแต่เชื่อผลของการปฏิบัติโดยไม่ศึกษาว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนไว้อย่างไร เชื่อในความเห็นของตนเอง เช่น เชื่อว่า  มีพระพุทธเจ้าเป็นตัวตน (อัตตา) ในแดนนิพพาน  หรือเชื่อว่า มีพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์จริงๆมาสนทนากับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ นับว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด จากหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ แต่เป็นความคิดของพราหมณ์ฮินดูที่เชื่อในเรื่อง ปรามาตมัน และเมื่อยังมีคนที่เชื่อผิดๆแบบนี้ จึงทำให้มีบางลัทธินำจุดนี้มาใช้เป็นเครื่องมือหลอกเอาเงินผู้คนได้มากมายโดยอ้างว่าสามารถนำข้าวทิพย์ไปถวายพระพุทธเจ้าในแดนนิพพาน เป็นต้น

และต่อไปในอนาคต ถ้าไม่รักษาความถูกต้องของคำสอนของพระพุทธเจ้าดังบันทึกในพระไตรปิฎก ต่อไปก็คงจะมีลัทธิ บิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยไม่สนตำราเอาแต่อ้างผลการปฏิบัติที่ขัดแย้งกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ต่อไป ศาสนาพุทธก็จะถูกลัทธิเหล่านี้กลืนไป และไม่เหลือหลักธรรมแท้ๆ ไว้ให้รุ่นลูกหลานได้ศึกษาเพื่อความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง!!!!!

พระพุทธเจ้าตรัสสอนใน อปริหานิยธรรม ๗ ประการ (ธรรมที่ทำแล้วไม่เสื่อม มีแต่เจริญอย่างเดียว) ตอนหนึ่งว่า

ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติ ไม่ล้มล้างสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้
http://www.84000.org/tipitaka/read/?23/21/21
http://www.84000.org/tipitaka/read/?10/70/90
http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=290

การบัญญัติคำสอนที่ว่า ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่สามารถติดต่อพูดคุยกับพระอรหันต์เมื่อดับขันธปรินิพพานแล้วจริงๆ จึงเป็นการบัญญัติ สิ่งที่พระพุทธเจ้า ไม่ทรงบัญญัติ เป็นการล้มล้างสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้

นอกจากนี้ชาวพุทธยังควรปฏิบัติตามหลัก มหาปเทส(มหาประเทศ) ๔ ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปคือ

ไม่ว่าจะได้ฟังได้ยินคำสอนของใครก็ตาม อย่าพึ่งชื่นชม อย่าพึ่งคัดค้านคำกล่าวของผู้นั้นนั้น ให้ศึกษาแล้วสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัยเสียก่อน
– ถ้าไม่สอดคล้องกับ พระสูตร หรือ เทียบเคียงในพระวินัยไม่ได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่านี้มิใช่คำของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และ ภิกษุนี้/ภิกษุสงฆ์นี้/พระเถระเหล่านั้น/พระเถระนั้น จำมาผิดแล้ว ดังนั้น พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย
– ถ้าสอดคล้องกับ พระสูตร หรือ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และ ภิกษุนี้/ภิกษุสงฆ์นี้/พระเถระเหล่านั้น/พระเถระนั้น จำมาถูกต้องแล้ว

http://84000.org/tipitaka/read/?10/113-116/144 )

ถ้าหากปราศจากพระไตรปิฎกอันเป็นแหล่งรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งในแง่ของพระวินัยและพระสูตรและพระอภิธรรมแล้ว จะเอาหลักฐานคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ชัดเจนจากไหนมาศึกษาเทียบเคียงคำกล่าวอ้างที่เราได้ยินหรือฟังจากพระหรือฆราวาส !!!!!

และการปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องตรงตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ก็ต้องอาศัยปริยัติเป็นแผนที่นำทาง ว่ายังอยู่ในร่องในรอยหรือไม่ ไม่ใช่ตะบี้ตะบันเอาแต่ปฏิบัติและผลจากปฏิบัติอย่างเดียวโดยไม่สนใจปริยัติ ก็คงไม่ต่างอะไรกับการหลับตาขับรถ ซึ่งไม่รู้ว่าจะไปตกเหวตกน้ำที่ไหน

ปริยัติ และ ปฏิบัติ ต้องควบคู่กันไป จึงจะได้ผลที่ถูกต้องคือปฏิเวธ นั่นเอง
——————————————————————————————————
3. แล้วที่ หลวงปู่มั่น เล่าเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับ เรื่องที่เห็นพระอรหันต์ที่ดับขันธปรินิพพานแล้วมาแสดงธรรมบ้าง มาแสดงท่านิพพานให้ดูบ้าง หรือ เห็นพระพุทธเจ้ามาอนุโมทนาบ้าง นั้นสามารถอธิบายตามหลักพระธรรมวินัยอย่างไร?

ครูบาอาจารย์ผู้เขียนท่านเคยบอกว่า หลวงปู่มั่น และ หลวงตามหาบัวผู้เรียบเรียงประวัติหลวงปู่มั่น นั้น ท่านก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่หลวงตามหาบัวนั้นท่านเคารพหลวงปู่มั่นมาก เวลาท่านได้ยินได้ฟังสิ่งที่หลวงปู่มั่นแสดงธรรม ทั้งจากหลวงปู่มั่นเอง และจากพระลูกศิษย์หลวงปู่มั่นองค์อื่นๆ ก็ตาม ท่านจึงนำสิ่งที่ได้เคยยินเหล่านี้มาเรียบเรียง เป็น ประวัติหลวงปู่มั่นโดยไม่ได้อธิบายเพิ่มเติมในรายละเอียดลงในประวัตินั้น

อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่าการที่ไม่อธิบายให้ละเอียดนั้น ทำให้ผู้อ่านหลายท่านเกิดความเห็นผิดตกไปในทาง สัสสตทิฏฐิ และทำให้มีกลุ่มบุคคลผู้ไม่ประสงค์ดีอาศัยความเข้าใจผิดนี้หาผลประโยชน์เข้าตัว อันเป็นการทำลายศาสนา จึงได้ออกมาเขียนอธิบายโดยสรุปจากคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกและคำสอนของพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต่างๆ เพื่อเป็นธรรมทานแก่หมู่ชนทั้งหลาย ให้เกิดสัมมาทิฏฐิ

ผู้ที่อธิบายเรื่องนี้ให้กระจ่าง คือ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ท่านได้ตอบปัญหาของพระสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จสังฆราช (เจริญ สุวัฒโน) ดังนี้

พระสังฆราชถาม : “มาแล้วก็ดี สงสัยปัญหาเรื่องหลวงปู่มั่น ที่อาจารย์มหาบัวเขียนว่า หลวงปู่มั่นคุยกับพระพุทธเจ้า พระอรหันต์นี่ ในหลักตำราก็พูดถึงพระนิพพานว่าดับไปแล้ว เอาอะไรมาคุยกับท่านอาจารย์มั่น”

หลวงพ่อพุธก็เรียนตอบท่านว่า :  “มันเป็นจิตรู้ของท่านอาจารย์มั่น ในเมื่อจิตสัมผัสถึงคุณธรรมขั้นสูงแล้ว ถ้าเป็นภูมิของพระอริยสงฆ์ ก็ปรากฏเป็นภาพพระอริยสงฆ์ขึ้น ถ้าจิตถึงพระพุทธเจ้า กับพระอรหันต์ แต่ที่แท้จริงพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ไม่ได้มาหรอก เป็นจิตรู้ของท่านอาจารย์มั่น”

พระสังฆราช : “อ้อ..มันเป็นอย่างนั้นหรือ”

และหลวงพ่อพุธท่านยังได้อธิบายต่อไปอีกว่า

พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่านไม่มายุ่งกับใครหรอก เพราะท่านนิพพานไปแล้ว ร่างกายตัวตนท่านก็ไม่มี ท่านจะเอากายที่ไหนมาปรากฏให้เรารู้เราเห็น ท่านจะเอาปากที่ไหนมาคุยให้เราฟัง แต่ที่เป็นไปได้เช่นนั้น เพราะเป็นจิตรู้ของผู้ทำสมาธิภาวนาไปถึงขั้นหนึ่ง ถึงจิตสัมผัสธรรม ซึ่งทำจิตให้เป็นพุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ทีนี้จิตดวงนี้ก็แสดงมโนภาพขึ้นมาให้เราเห็นได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งเราเรียกว่านิมิตนั่นแหละ

ที่ว่าเป็นนิมิต บางทีเห็นเป็นพระพุทธเจ้า พระสาวกเดินเข้ามาหาเรา หรือบางทีก็มายืนเทศน์สอนเราอยู่ แต่แท้ที่จริงไม่ใช่พระพุทธเจ้าหรือพระสาวกเหล่านั้นเดินมาเทศน์หรือมานั่งเทศน์ให้เราฟัง แต่ว่าจิตรู้ของเราเองที่มันถึงธรรมแล้วนี้ สารพัดที่เขาจะแสดงปรากฏการณ์ให้เรารู้เราเห็น เพื่อความมั่นใจในความรู้ของตัวเอง คล้าย ๆ กับว่าเขาจะสร้างมโนภาพ สร้างนิมิตขึ้นมาเสริมศรัทธาที่เชื่อมั่นอยู่แล้วให้มั่นคงยิ่งขึ้น

นิมิตที่ปรากฏแก่ท่านพระอาจารย์มั่นนั้นน่ะ มันเป็นไปได้ในภาษิตที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระวักกลิว่า “โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ”  ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นถือว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นถือว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นเราเห็นธรรม ผู้นั้นเชื่อว่าเห็นพระสงฆ์ ผู้ใดเห็นธรรมเห็นพระสงฆ์ ผู้นั้นเชื่อว่าเห็นเรา

เพราะฉะนั้น ในเมื่อท่านอาจารย์มั่นท่านมีจิตของท่านบรรลุถึงคุณธรรมที่ทำให้จิตเป็นพุทธะ เป็นจิตพุทธะแล้วนี่ ก็สารพัดที่จิตของท่านจะสร้างมโนภาพขึ้นมาให้ท่านรู้ท่านเห็น อันนี้เป็นภูมิรู้ภูมิธรรมของท่านเอง

(อ้างอิงจาก http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-poot/lp-poot-hist-01-10.htm )

สรุปก็คือการที่เห็นพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ที่นิพพานแล้ว ก็คือ นิมิตที่จิตปรุงขึ้นในสมาธิเท่านั้นเอง นั่นเอง คงอุปมาได้กับ ภาพถ่ายหรือวีดีโอ 3 มิติ – 4 มิติ ซึ่งแม้จะเหมือนจริงเพียงใดแต่ก็เป็นภาพไม่ใช่ของจริง และ นิมิต นั้นอย่าเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่ผิดหรือสิ่งไม่ดี ทั้งนี้ แม้หลวงปู่มั่นท่านจะเห็นนิมิตแต่ท่านก็ไม่ได้ยึดติดกับนิมิต  สิ่งที่ผิดคือการไปยึดติดในนิมิตว่าเป็นจริงเป็นจังต่างหาก!!!!
——————————————————————————————————
4. ถ้าเช่นนั้น พระอรหันต์ตายแล้วขาดสูญ ไม่เกิดอีกจริงหรือ????

คำตอบคือ ไม่ใช่!!!!

การเชื่อว่าตายแล้วขาดสูญไม่เกิดอีกก็จัดเป็นมิจฉาทิฎฐิ ประเภท หนึ่งที่เรียก อุจเฉททิฏฐิ
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_line.php?A=4403&Z=4403 )

ซึ่งในสมัยพุทธกาลก็มีพระรูปหนึ่งชื่อ ยมก (อ่านว่า ยะมะกะ) ดังรายละเอียดใน ยมกสูตร
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=17&A=2447&Z=2585 )
ซึ่ง พระยมก มีความเห็นผิดว่า “พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก” พระรูปอื่นๆในวัดก็บอกพระยมกว่า

ท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น อย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค เพราะ การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่พึงตรัสอย่างนี้ว่า พระขีณาสพเมื่อ ตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก

แต่พระยมกก็ยังไม่เชื่อ พระรูปอื่นจึงไปตามพระสารีบุตรให้มาช่วยสอน พระยมก

โดยพระสาริบุตรถามว่า : รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่างเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
พระยมกตอบว่า : ไม่เที่ยง

พระสาริบุตรถามต่อว่า : ท่านเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่างว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?
พระยมกตอบว่า :  ไม่ใช่อย่างนั้น

พระสาริบุตรถามต่อว่า :ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคล มีในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณหรือ?
พระยมกตอบว่า :  ไม่ใช่อย่างนั้น

พระสาริบุตรถามต่อว่า :ท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลเป็นอย่างอื่นที่นอกเหนือจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณหรือ
พระยมกตอบว่า :  ไม่ใช่อย่างนั้น

พระสาริบุตรถามต่อว่า : ท่านเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นสัตว์บุคคลหรือ?
พระยมกตอบว่า :  ไม่ใช่อย่างนั้น

พระสาริบุตรถามต่อว่า : ท่านเห็นว่า สัตว์ บุคคลนี้นั้นไม่มีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณ หรือ?
พระยมกตอบว่า : ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน.

พระสาริบุตรจึงสอนว่า : ดูกรท่านยมกะ ก็โดยที่จริง โดยที่แท้ ท่านจะค้นหาสัตว์บุคคลในขันธ์ ๕ เหล่านี้
ในปัจจุบันไม่ได้เลย ควรแลหรือที่ท่านจะยืนยันว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก.

พอได้ฟังพระสาริบุตรสอน ถึงตอนนี้แล้ว พระยมกได้บรรลุอรหัตตผล

ทีนี้พระสาริบุตรถาม พระยมกว่า : ผู้ที่เป็นพระอรหันตขีณาสพ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเป็นอะไร ท่านถูกถามอย่างนั้น จะตอบว่ายังไง?
พระยมกตอบว่า : รูปแลไม่เที่ยง สิ่ง ใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ถึงแล้วซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้ เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไป แล้ว ถึงแล้วซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้

สรุปคือ ไม่ว่าจะบรรลุหรือไม่บรรลุอรหันต์ก็ตามตัวตนไม่มีอยู่แล้ว การตายคือการที่ขันธ์แยกจากกัน ถ้ายังไม่หมดกิเลส ก็จะมีขันธ์เกิดขึ้นมาอีกเพราะยังมีเชื้ออวิชชาเหลือ  แต่ถ้าบรรลุอรหันต์แล้วเมื่อตายไปขันธ์ต่างๆ ก็ดับไปเพราะความไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และไม่มีขันธ์เกิดขึ้นมาอีกเพราะไม่มีอวิชชาแล้ว ไม่ใช่เป็นตัวตนที่ตายดับหายไปดังที่พระยมกเข้าใจผิดก่อนบรรลุธรรม

พระสาริบุตรก็สอนต่อไปอีกว่า

อุปมาเหมือนมีเศรษฐีคนหนึ่งรวยมาก รับคนใช้ที่ประสงค์ร้ายเข้าไปทำงานในบ้าน แล้วคนใช้ก็แกล้งทำเป็นเชื่อฟังคำสั่งทุกอย่าง แต่พอถึงเวลาได้โอกาสคนใช้นี้ก็ฆ่าเศรษฐี โดยที่ไม่รู้ตัวว่า ได้รับฆาตกรเข้ามาทำงานในบ้าน และฆาตกรก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่า ตั้งแต่วินาทีที่เข้าบ้านมาและมีเจตนาร้าย แม้ว่าจะทำกิริยาที่ดีอย่างไรก็ตาม แต่หลงคิดว่า คนใช้เป็นคนดี

เหมือนปุถุชนที่ไม่เคยฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมเห็นขันธ์ 5 เป็นตัวตน ย่อมเห็นตัวตนในขันธ์ 5
ย่อมไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ขันธ์ 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน
ย่อมไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ขันธ์ 5 เกิดจากการที่มีปัจจัยปรุงแต่งให้มีให้เป็น
ย่อมไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ขันธ์ 5 ว่าเป็นผู้ฆ่า
จึงเข้าไปถือมั่น ยึดมั่น ขันธ์ 5 ว่า เป็นตัวตนของเรา
เมื่อเข้าไปถือมั่น ยึดมั่นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่มิใช่ประโยชน์เกื้อกูล ย่อมเป็นไปเพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน.

ส่วนพระอริยสาวก ผู้เคยฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมไม่เห็นขันธ์ 5 เป็นตัวตน ย่อมไม่เห็นตัวตนในขันธ์ 5
ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า ขันธ์ 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน
ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า ขันธ์ 5 เกิดจากการที่มีปัจจัยปรุงแต่งให้มีให้เป็น
ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า ขันธ์ 5 ว่าเป็นผู้ฆ่า
จึงไม่เข้าไปถือมั่น ยึดมั่น ขันธ์ 5 ว่า เป็นตัวตนของเรา
เมื่อไม่ถือมั่น ยึดมั่นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล ย่อมเป็นไปเพื่อสุขตลอดกาลนาน.

เขียนบน โดย DrRonEnv | 6 ความเห็น

ภาพพระพุทธเจ้า

รูปวาดพระพุทธเจ้าแบบ crop 2

เนื่องในวันวิสาขบูชา ผมจึงเขียน เรื่องเกี่ยวกับภาพพระพุทธเจ้าขึ้นมาเป็นธรรมทาน
ภาพที่เห็นข้างบนนี้คงเป็นที่คุ้นตา หลายคนเพราะเป็นภาพที่มีการเผยแพร่กันมาก
แต่น้อยคนนักที่จะรู้ถึงที่มาที่ไป ของภาพ

บ้างก็เชื่อว่า เป็นภาพถ่ายที่มีคนไปถ่ายรูปต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา แล้วมีภาพพระพุทธเจ้าติดมาในฟิล์ม
บ้างก็เชื่อว่า เป็นภาพที่วาดโดยโอรสของรัชกาลที่ ๕
บ้างก็เชื่อว่า เป็นภาพวาดของจิตรกรชาวฝรั่งเศส

ซึ่งความเชื่อที่กล่าวมาข้างต้นนั้นล้วนแต่ผิดทั้งสิ้น

ความจริงแล้วรูปต้นฉบับนั้นเป็นภาพวาดที่วาดโดยใช้สีน้ำมันบนผ้าใบขนาด กว้าง 290 ซม. ยาว 366 ซม. ดังนี้ครับ

ภาพวาดพระพุทธเจ้า สี original

แต่แหล่งข้อมูลบางแห่งแปลงภาพนี้ให้เป็นสีขาวดำ เพื่อให้ภาพดูเก่าและดูขลังขึ้น

ภาพวาดพระพุทธเจ้า ขาวดำ

ภาพดังกล่าวมีชื่อเป็นภาษาสเปนว่า Las tentaciones de Buda (ตรงกับภาษาอังกฤษคือ The temptation of Buddha) วาดโดยจิตรกรชาวสเปน ที่ชื่อ Eduardo Chicharro

0487viso_Cubierta adaptada

จิตรกรท่านนี้ได้รับแรงบันดาลใจในศาสนาตะวันออกจาก รพินทรนาถ ฐากูร ชาวอินเดีย ซึ่งเป็นคนเอเชีย คนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล โดยได้รับใน สาขาวรรณกรรม

Eduardo Chicharro ได้วาดภาพนี้ขึ้นระหว่าง ปี พศ. 2459 – 2464 (ใช้เวลาวาดประมาณ 5-6 ปี)

ปัจจุบันภาพนี้แขวนอยู่ที่ La Academia de Bellas Artes de San Fernando (The Academy of fined arts of St. Ferdinan) กรุงมาดริดประเทศสเปน

ส่วนเหตุการณ์ในภาพนั้น เป็นเหตุการณ์หลังจากที่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน (พระสมณโคดมพุทธเจ้า) ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว 1 ปี

เมื่อทรงได้ตรัสรู้แล้ว ที่ใต้ต้น “อัสสัตถพฤกษ์” หรือ ต้นโพธิ์ (papal tree) เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา หรือเมื่อประมาณ 2600 ปีก่อน ตามความเชื่อของคนไทย ตามข้อมูลจากพระไตรปิฎกกล่าวว่า พระองค์ก็เสวยวิมุตติสุขอยู่ 4 สัปดาห์ (แต่ข้อมูลจากอรรถกถากล่าวว่าเสวยวิมุตติสุข 7 สัปดาห์ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้โดยคลิก –> ที่นี่) แล้วจึงทรงแสดงธรรมสั่งสอนสัตว์โลกเรื่อยมา

พอ 1 ปีให้หลังจากวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็ทรงกลับมารำลึกความหลัง ที่ต้น อชปาลนิโครธ (ต้นไทรซึ่งเป็นที่เลี้ยงแพะ/แกะ) ริมฝั่งแม่น้ำ เนรัญชรา ณ ตำบลอุรุเวลา ฯ อีกครั้ง และก็มีมารผู้มีบาปตนหนึ่ง ที่เฝ้าหาโอกาสจะเข้ามาใกล้ๆ เพื่อก่อกวน มารตนนี้จ้องหาโอกาสมา ตั้งแต่ สมัยที่พระพุทธเจ้ายังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะที่พึ่งจะออกบวชจนกระทั่งตรัสรู้ (ใช้เวลา 6 ปี) ก็ยังไม่มีโอกาส ต้องรอจังหวะอีกปีนึง จึงมีโอกาสเข้ามาหาพระพุทธเจ้า (รวมเวลาที่รอคอยโอกาสทั้งหมด 7 ปี) ซึ่งมารผู้มีบาปพยายามเข้ามาก่อกวนพระพุทธเจ้า แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ ดังนั้นมารจึงเสียใจและนั่งบนพื้นเอาไม้ขีดดินเล่น และลูกสาวมารมาเห็นเลยสงสาร และขออาสาไปทำให้พระพุทธเจ้ากลับมาอยู่ใต้อำนาจให้ได้ โดยใช้วิธีการต่างๆ เพื่อยั่วยุพระพุทธเจ้าให้ แต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายพระพุทธเจ้าก็ได้ขับนางเหล่านั้น ผู้มีรูปน่าทัศนายิ่ง ให้หนีไป เหมือนลมพัด ปุยนุ่น

ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า เหตุการณ์นี้เกิดตอนที่พึ่งตรัสรู้ใหม่ๆ ระหว่างที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุติสุข แต่เมื่อศึกษาข้อมูลจากในพระไตรปิฎกและอรรถกถา สัตตวัสสสูตร และ มารธีตุสูตร (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค) จึงพบว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ไปแล้ว 1 ปี

ซึ่งผมขอวิจารณ์ความสมจริงของภาพดังนี้ครับ
ภาพในส่วนสภาพแวดล้อม:
ในส่วนของต้นไม้ ไม่ค่อยสมจริงเท่าใดนัก เพราะตามหลักฐานในพระไตรปิฎก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ที่ต้นไทร แต่ในรูปกลับเป็นต้นโพธิ์ ซึ่งคาดว่า จิตรกรท่านนี้ คงไม่ได้ศึกษารายละเอียดในพระไตรปิฎก
อย่างไรก็ตามก็เคยมีจิตรกรไทย วาดภาพเหตุการณ์นี้เหมือนกันคือ อ.เหม เวชกร ซึ่งวาดสภาพแวดล้อมได้ถูกต้องตามเหตุการณ์ในพระไตรปิฎก ดังนี้

ภาพในส่วนของพระพุทธองค์:
นับว่าสมจริงมากจนเมื่อมีคนแปลงภาพเป็นสีขาวดำและ crop เอามาเฉพาะภาพในส่วนที่เป็นพระพุทธเจ้า ทำให้คนที่ไม่รู้ที่มาหลายคน นึกว่าเป็นภาพที่ถ่ายติดมาโดยบังเอิญจากต้นพระศรีมหาโพธิ์เลยทีเดียว
และขอแนะนำให้ลองเทียบภาพพระพุทธองค์กับลักษณะของมหาบุรุษ 32 ประการดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ลักขณสูตร ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลายมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการนั้น เป็นไฉน ซึ่งพระมหาบุรุษประกอบแล้วย่อม
มีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ถ้าครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ อนึ่ง ถ้าพระมหาบุรุษนั้น เสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระมหาบุรุษในโลกนี้
๑. มีพระบาทประดิษฐานเป็นอันดี ภิกษุทั้งหลาย การที่พระมหาบุรุษ
มีพระบาทประดิษฐานเป็นอันดี นี้เป็นมหาปุริสลักษณะของมหาบุรุษ ฯ
๒. ณ พื้นภายใต้ฝ่าพระบาท ๒ ของพระมหาบุรุษ มีจักรเกิดขึ้น มีซี่กำ
ข้างละพัน มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ภิกษุทั้งหลาย แม้การที่พื้น
ภายใต้ฝ่าพระบาททั้ง ๒ ของพระมหาบุรุษ มีจักรเกิดขึ้น มีซี่กำข้างละพัน มีกง
มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง นี้ก็มหาปุริสลักษณะของพระมหาบุรุษ ฯ
๓. มีส้นพระบาทยาว ฯ
๔. มีพระองคุลียาว ฯ
๕. มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม ฯ
๖. มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายดุจตาข่าย ฯ
๗. มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ ฯ
๘. มีพระชงฆ์รีเรียวดุจแข้งเนื้อทราย ฯ
๙. เสด็จสถิตยืนอยู่มิได้น้อมลง เอาฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองลูบคลำได้ถึง
พระชาณุทั้งสอง ฯ
๑๐. มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก ฯ
๑๑. มีพระฉวีวรรณดุจวรรณะแห่งทองคำ คือ มีพระตจะ ประดุจหุ้ม
ด้วยทอง ฯ
๑๒. มีพระฉวีละเอียด เพราะพระฉวีละเอียด ธุลีละอองจึงมิติดอยู่ใน
พระกายได้ ฯ
๑๓. มีพระโลมชาติเส้นหนึ่งๆ เกิดในขุมละเส้นๆ ฯ
๑๔. มีพระโลมชาติมีปลายขึ้นช้อยขึ้นข้างบน มีสีเขียว มีสีเหมือนดอก
อัญชัญ ขดเป็นกุณฑลทักษิณาวัฏ ฯ
๑๕. มีพระกายตรงเหมือนกายพรหม ฯ
๑๖. มีพระมังสะเต็มในที่ ๗ สถาน ฯ
๑๗. มีกึ่งพระกายท่อนบนเหมือนกึ่งกายท่อนหน้าของสีหะ ฯ
๑๘. มีระหว่างพระอังสะเต็ม ฯ
๑๙. มีปริมณฑลดุจไม้นิโครธ วาของพระองค์เท่ากับพระกายของพระองค์
พระกายของพระองค์ก็เท่ากับวาของพระองค์ ฯ
๒๐. มีลำพระศอกลมเท่ากัน ฯ
๒๑. มีปลายเส้นประสาทสำหรับนำรสอาหารอันดี ฯ
๒๒. มีพระหนุดุจคางราชสีห์ ฯ
๒๓. มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ ฯ
๒๔. มีพระทนต์เรียบเสมอกัน ฯ
๒๕. มีพระทนต์ไม่ห่าง ฯ
๒๖. มีพระทาฐะขาวงาม ฯ
๒๗. มีพระชิวหาใหญ่ ฯ
๒๘. มีพระสุรเสียงดุจเสียงแห่งพรหม ตรัสมีสำเนียงดังนกกรวิก ฯ
๒๙. มีพระเนตรดำสนิท [ดำคม] ฯ
๓๐. มีดวงพระเนตรดุจตาแห่งโค ฯ
๓๑. มีพระอุณาโลมบังเกิด ณ ระหว่างพระขนง มีสีขาวอ่อน ควร
เปรียบด้วยนุ่น ฯ
๓๒. มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ ฯ

ส่วนเหตุต้นผลกรรมที่ทำให้ได้มาซึ่งลักษณะแต่ละอย่างนั้นลองอ่านรายละเอียดใน ลักขณสูตร ดูนะครับ
นอกจากนี้ ยังมี อสีตยานุพยัญชนะ หรือ อนุพยัญชนะอีก 80 ประการ (ไม่รู้ว่ารายละเอียดมีที่มาจากไหน แต่มีพูดถึงในอรรถกถาลักขณะสูตร โดยไม่ระบุรายละเอียด คาดว่ารายละเอียดคงอยู่ใน ฎีกา หรือ อนุฏีกา) ซึ่งเป็นลักษณะข้อปลีกย่อยของพระมหาบุรุษ ดังนี้
๑. มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทอันเหลืองงาม
๒. นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทเรียวออกไป โดยลำดับแต่ต้นจนปลาย
๓. นิ้วพระหัตถ์ แลนิ้วพระบาทกลมดุจนายช่างกลึงเป็นอันดี
๔. พระนขาทั้ง ๒๐ มีสีอันแดง
๕. พระนขาทั้ง ๒๐ นั้นงอนงามช้อนขึ้นเบื้องบนมิได้ค้อมลงเบื้องต่ำ ดุจเล็บแห่งสามัญชนทั้งปวง
๖. พระนขานั้นมีพรรณอันเกลี้ยงกลม สนิทมิได้เป็นริ้วรอย
๗. ข้อพระหัตถ์และข้อพระบาทซ่อนอยู่ในพระมังสะ มิได้สูงขึ้นปรากฏออกมาภายนอก
๘. พระบาททั้งสองเสมอกัน มิได้ย่อมใหญ่กว่ากัน มาตรว่าเท่าเมล็ดงา
๙. พระดำเนินงามดุจอาการเดินแห่งกุญชรชาติ
๑๐. พระดำเนินงามดุจสีหราช
๑๑. พระดำเนินงามดุจดำเนินแห่งหงส์
๑๒. พระดำเนินงามดุจอุสภราชดำเนิน
๑๓. ขณะเมื่อยืนจะย่างดำเนินนั้น ยกพระบาทเบื้องขวาย่างไปก่อน พระกายเยื้องไปข้างเบื้องขวาก่อน
๑๔. พระชานุมณฑลเกลี้ยงกลมงามบริบูรณ์ บ่มิได้เห็นอัฏฐิสะบ้าปรากฏออกมาภายนอก
๑๕. มีบุรุษพยัญชนะบริบูรณ์ คือมิได้มีกิริยามารยาทคล้ายสตรี
๑๖. พระนาภีมิได้บกพร่อง กลมงามมิได้วิกลในที่ใดที่หนึ่ง
๑๗. พระอุทรมีสัณฐานอันลึก
๑๘. ภายในพระอุทรมีรอยเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏ
๑๙. ลำพระเพลาทั้งสองกลมงามดุจลำสุวรรณกัททลี
๒๐. ลำพระกรทั้งสองงามดุจงวงแห่งเอราวัณเทพยหัตถี
๒๑. พระอังคาพยพใหญ่น้อยทั้งปวงจำแนกเป็นอันดี คือ งามพร้อมทุกสิ่งหาที่ตำหนิบ่มิได้
๒๒. พระมังสะที่ควรจะหนาก็หนา ที่ควรจะบางก็บางตามที่ทั่วทั้งประสรีรกาย
๒๓. พระมังสะมิได้หดหู่ในที่ใดที่หนึ่ง
๒๔. พระสรีรกายทั้งปวงปราศจากต่อมและไฝปาน มูลแมลงวันมิได้มีในที่ใดที่หนึ่ง
๒๕. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสมกันโดยตามลำดับทั้งเบื้องบนแลเบื้องล่าง
๒๖. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสิ้นปราศจากมลทินทั้งปวง
๒๗. ทรงพระกำลังมาก เสมอด้วยกำลังแห่งกุญชรชาติ ประมาณถึงพันโกฏิช้าง ถ้าจะประมาณด้วยกำลังบุรุษก็ได้ถึงแสนโกฏิบุรุษ
๒๘. มีพระนาสิกอันสูง
๒๙. สัณฐานนาสิกงามแฉล้ม
๓๐. มีพระโอษฐ์เบื้องบนเบื้องต่ำมิได้เข้าออกกว่ากัน เสมอเป็นอันดี มีพรรณแดงงามดุจสีผลตำลึงสุก
๓๑. พระทนต์บริสุทธิ์ปราศจากมูลมลทิน
๓๒. พระทนต์ขาวดุจดังสีสังข์
๓๓. พระทนต์เกลี้ยงสนิทมิได้เป็นริ้วรอย
๓๔. พระอินทรีย์ทั้ง ๕ มีจักขุนทรีย์เป็นอาทิงามบริสุทธิ์ทั้งสิ้น
๓๕. พระเขี้ยวทั้ง ๔ กลมบริบูรณ์
๓๖. ดวงพระพักตร์มีสัณฐานยาวสวย
๓๗. พระปรางค์ทั้งสองดูเปล่งงามเสมอกัน
๓๘. ลายพระหัตถ์มีรอยอันลึก
๓๙. ลายพระหัตถ์มีรอยอันยาว
๔๐. ลายพระหัตถ์มีรอยอันตรง บ่มิได้ค้อมคด
๔๑. ลายพระหัตถ์มีรอยอันแดงรุ่งเรือง
๔๒. รัศมีพระกายโอภาสเป็นปริมณฑลโดยรอบ
๔๓. กระพุ้งพระปรางค์ทั้งสองเคร่งครัดบริบูรณ์
๔๔. กระบอกพระเนตรกว้างแลยาวงามพอสมกัน
๔๕. ดวงพระเนตรกอปรด้วยประสาททั้ง ๕ มีขาวเป็นอาทิผ่องใสบริสุทธิ์ทั้งสิ้น
๔๖. ปลายเส้นพระโลมาทั้งหลายมิได้งอมิได้คด
๔๗. พระชิวหามีสัณฐานอันงาม
๔๘. พระชิวหาอ่อนบ่มิได้กระด้างมีพรรณอันแดงเข้ม
๔๙. พระกรรณทั้งสองมีสัณฐานอันยาวดุจกลีบปทุมชาติ
๕๐. ช่องพระกรรณมีสัณฐานอันกลมงาม
๕๑. ระเบียบพระเส้นทั้งปวงนั้นสละสลวยบ่มิได้หดหู่ในที่อันใดอันหนึ่ง
๕๒. แถวพระเส้นทั้งหลายซ่อนอยู่ในพระมังสะทั้งสิ้น บ่มิได้เป็นคลื่นฟูขึ้นเหมือนสามัญชนทั้งปวง
๕๓. พระเศียรมีสัณฐานงามเหมือนฉัตรแก้ว
๕๔. ปริมณฑลพระนลาฏโดยกว้างยาวพอสมกัน
๕๕. พระนลาฏมีสัณฐานอันงาม
๕๖. พระโขนงมีสัณฐานอันงามดุจคันธนูอันก่งไว้
๕๗. พระโลมาที่พระโขนงมีเส้นอันละเอียด
๕๘. เส้นพระโลมาที่พระโขนงงอกขึ้นแล้วล้มราบไปโดยลำดับ
๕๙. พระโขนงนั้นใหญ่
๖๐. พระโขนงนั้นยาวสุดหางพระเนตร
๖๑. ผิวพระมังสะละเอียดทั่วทั้งพระกาย
๖๒. พระสรีรกายรุ่งเรืองไปด้วยสิริ
๖๓. พระสรีรกายมิได้มัวหมอง ผ่องใสอยู่เป็นนิตย์
๖๔. พระสรีรกายสดชื่นดุจดวงดอกปทุมชาติ
๖๕. พระสรีรสัมผัสอ่อนนุ่มสนิท บ่มิได้กระด้างทั่วทั้งพระกาย
๖๖. กลิ่นพระกายหอมฟุ้งดุจกลิ่นสุคนธกฤษณา
๖๗. พระโลมามีเส้นเสมอกันทั้งสิ้น
๖๘. พระโลมามีเส้นละเอียดทั่วทั้งพระกาย
๖๙. ลมอัสสาสะและปัสสาสะลมหายพระทัยเข้าออกก็เดินละเอียด
๗๐. พระโอษฐมีสัณฐานอันงามดุจแย้ม
๗๑. กลิ่นพระโอษฐหอมดุจกลิ่นอุบล
๗๒. พระเกสาดำเป็นแสง
๗๓. กลิ่นพระเกสาหอมฟุ้งขจรตลบ
๗๔. พระเกสาหอมดุจกลิ่นโกมลบุบผชาติ
๗๕. พระเกสามีสัณฐานเส้นกลมสลวยทุกเส้น
๗๖. พระเกสาดำสนิททั้งสิ้น
๗๗. พระเกสากอปรด้วยเส้นอันละเอียด
๗๘. เส้นพระเกสามิได้ยุ่งเหยิง
๗๙. เส้นพระเกสาเวียนเป็นทักขิณาวัฏฏทุกๆ เส้น
๘๐. วิจิตรไปด้วยระเบียบพระเกตุมาลา กล่าวคือถ่องแถวแห่งพระรัศมีอันโชตนาการขึ้น ณ เบื้องบนพระอุตมังคสิโรตม์ฯ

นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังมี พระฉัพพรรณรังสี หรือ รัศมี ๖ ประการ ซึ่งเปล่งออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า เป็นสีต่างๆ คือ
๑. นีล เขียวเหมือนดอกอัญชัน
๒. ปีต เหลืองเหมือนหรดาลทอง
๓. โลหิต แดงเหมือนตะวันอ่อน
๔. โอทาต ขาวเหมือนแผ่นเงิน
๕. มัญเชฐ สีหงสบาท เหมือนดอกเซ่งหรือหงอนไก่
๖. ประภัสสร เลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก

ขอบคุณข้อมูลที่ใช้อ้างอิงจาก

สัตตวัสสสูตร : http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=15&A=3952&Z=4009&pagebreak=0

มารธีตุสูตร : http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=15&A=4010&Z=4136&pagebreak=0

ลักขณสูตร : http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=11&A=3182&Z=3922&pagebreak=0

มหาปทานสูตร : http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=10&A=0&Z=1454&pagebreak=0

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ของ พระ อ.ปยุต ปยุตโต เรื่องอนุพยัญชนะ : http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B0

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ของ พระ อ.ปยุต ปยุตโต เรื่องฉัพพรรณรังสี : http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%A9%D1%BE%BE%C3%C3%B3%C3%D1%A7%CA%D5

รายละเอียดเกี่ยวกับภาพ : http://www.mryuse.com/?p=1919

คุณ Ratthee แห่งเว็บ http://www.palungjit.com นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะสเปน

โพสท์ใน #พระพุทธเจ้า#, ธรรมะและศาสนา | ใส่ความเห็น

เตือนภัย!! ลัทธิมิจฉาทิฏฐิที่เห็นว่าจิตเที่ยง

มีพวกมิจฉาทิฏฐิไปเขียนไว้ในหัวข้อว่า “ดูจิตกันยังไง? เห็นไปได้ว่าจิตเกิดดับ” โดย นายธรรมผี ใน blog ดังรายละเอียดต่อไปนี้ (ข้อสีฟ้าที่นำมาแสดงในที่นี้เป็นข้อความของพวกมิจฉาทิฏฐิ) >เมื่อถูกถามว่าเราในที่นี่คือใคร??? คำตอบที่ได้นั้น มักเป็นคำตอบที่หาเหตุผลไม่ได้เลย เช่น เราก็คือเรา เราคือผู้รู้ ถึงผู้รู้หรือเรา ก็ไม่เที่ยง สุดท้ายจิตผู้รู้หรือเราก็ต้องถูกทำลายทิ้งอยู่ดี …ฯลฯ… เป็นคำตอบที่ขาดเหตุผลอย่างยิ่ง พาให้ออกห่างจากความเป็นจริงไปอีกไกลโข ถ้าจิตผู้รู้หรือเรา ถูกทำลายทิ้ง เมื่อบรรลุมรรคผลที่เกิดขึ้นกับตน จะรู้ได้อย่างไร??? ขัดกับพระพุทธวจนะที่กล่าวไว้ว่า “จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหา” >ถ้าจิตเกิด-ดับตามที่สอนให้เชื่อตามๆกันมานั้น เราจะชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองได้อย่างไรเล่า? เมื่อกำลังฝึกฝนอบรมชำระจิตขณะภาวนาอยู่ และจิตยังเกิดดับอยู่ตลอดเวลา เราไม่มีทางที่จะชำระให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองได้หรอกครับ เดี๋ยวเกิด เดี๋ยวดับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ขาดเหตุผลเอาอย่างมากๆ >ยังมีการสอนอีกว่าระหว่างที่จิตเกิด-ดับอยู่นั้น มีการถ่ายทอดกรรมให้แก่กันอีกด้วย ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้เลยครับ ขณะที่จิตดวงใหม่เกิดขึ้นนั้น จิตดวงเก่าได้ดับไปแล้ว ขณะจิตดวงเก่าที่กำลังจะดับไป จิตดวงใหม่ก็ยังไม่อาจเกิดขึ้นมาเลย เพราะจิตดวงใหม่จะเกิดขึ้นมาได้นั้น ต่อเมื่อจิตดวงเก่าต้องดับไป จะมีจิตสองดวงเกิดขึ้นพร้อมกันในขณะเดียวกันไม่ได้ ฉะนั้นเอาช่วงเวลาตรงไหนมาถ่ายทอดกรรมให้กันหละครับ ข้างบนนี้เป็นคำพูดส่วนหนึ่งของพวกมิจฉาทิฏฐิที่เห็นว่าจิตเที่ยง จริงๆแล้วตามอภิธรรม สอนว่า ธรรมต่างๆ แบ่งออกได้เป็น จิต เจตสิก รูป นิพพาน ซึ่ง  จิต เจตสิก รูป นั้นอยู่ในกฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นคือมีเกิดมีดับไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่คงที่ถาวรแบบไม่เกิดไม่ดับ แต่นิพพานพ้นจากไตรลักษณ์ คือ เป็น นิจจัง สุขขัง อนัตตา แม้แต่หลวงปู่หล้า พระสุปฏิปันโนแห่ง ภูจ้อก้อ ยังเคยกล่าวไว้ครั้งสนทนาธรรมกับหลวงปู่บุญฤทธิ์ว่า “ผู้รู้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เร็วที่สุด จิตก็เหมือนกัน ติดต่อกันอยู่ หาระหว่างไม่ได้  ใครว่าจิต ไม่เกิด ไม่ดับ ผู้นั้นเป็น มิจฉาทิฏฐิ เหตุฉะนั้นท่านจึงบัญบัติว่า รูป จิต เจตสิก นิพพาน ไม่ได้บัญญัติว่า จิตเป็นพระนิพพาน ไม่ได้บัญญัติว่าพระนิพพาน เป็นจิต” นาย ธรรมผี มีความเห็นผิดไปว่า จิตต้องคงอยู่อย่างนั้นไม่เกิดไม่ดับ แถมอ้างพระพุทธพจน์ผิดๆว่า >ขัดกับพระพุทธวจนะที่กล่าวไว้ว่า “จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหา” และ ยังมีพระพุทธพจน์ที่กล่าวไว้ ในมหาสติปัฏฐานสูตร กล่าวไว้ชัดๆ โดยไม่ต้องตีความ ว่า จิตไม่ได้เกิดดับ ที่เกิดและดับไปนั้น คือนิวรณ์ทั้งหลาย เช่น อะไรที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ ณ.ภายในจิต จิตก็รู้ชัดๆว่า เกิดขึ้นหรือมีอยู่  อะไรที่ดับไปหรือไม่มีอยู่  ณ.ภายในจิต จิตก็รู้ชัดๆว่า ดับไปหรือไม่มีอยู่ > จิตคงที่เพราะรู้ชัดว่านิวรณ์เกิด หรือดับ หรือบรรลุนิพพานเพราะจิตสิ้นการปรุงแต่งหรือสิ้นตัณหา สุดท้ายนายธรรมผีกล่าวจาบจ้วงพระเถระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เช่น หลวงปู่หล้า รวมถึงกล่าวตู่พระพุทธเจ้าว่า >โดยเฉพาะผู้ที่คุยอวดว่าตนเองเป็นนักปฏิบัติกรรมฐานภาวนามาด้วยแล้ว และยังเห็นว่าจิตเกิดดับ ซึ่งเป็นการกล่าวขัดแย้งกับพระพุทธพจน์ ที่มีมาในมหาสติปัฏฐานสูตร เป็นคำพูดที่ไม่น่าเชื่อถือว่าได้ผ่านการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนามาจริง ซึ่งความจริงคือ : พระพุทธเจ้าไม่ด้บอกตรงไหนเลยแม้จะในมหาสติปัฏฐานสูตรหรือสูตรอื่นๆว่าจิตคงที่ ไม่เกิดไม่ดับ ท่านแค่บอกเฉยๆ ว่า จิตเป็นเช่นไรมีสภาวะธรรมอะไรปรากฎก็ให้รู้ (พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่า จิตคงที่แต่นายธรรมผีเข้าใจผิดไปเองว่า จิตคงที่เพราะจิตเป็นตัวรู้ยืนพื้น) ทั้งที่จริงๆ แล้วเรื่องนี้พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสไว้อย่างชัดเจนใน “อัสสุตวตาสูตร”  โดยไม่ต้องตีความเลยว่า ที่ตถาคตเรียกว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง จิตเป็นต้นนั้นดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ในกลางคืนและกลางวัน ก็ฉันนั้นแล ฯ http://www.dhammahome.com/webboard/printing/22034   คนที่เห็นจิตคงที่ก็เหมือนกับคนที่เห็นหลอดไฟนีออนสว่างก็ไปทึกทักเอาว่าหลอดไฟติดตลอดเวลาไม่ดับเลย แต่ถ้าสังเกตดีๆจะพบว่าหลอดไฟติดๆดับต่อเนื่องกัน ประมาณ 50 ครั้งต่อวินาที (ซึ่งเร็วมากๆ) จนเสมือนว่าติดตลอดเวลา นายธรรมผีกล่าวว่า “จิตเกิดดับ เป็นการกล่าวขัดแย้งกับพระพุทธพจน์” โดยไม่รู้ตัวว่าตัวของนายธรรมผีเองนั่นแหละที่กล่าวขัดแย้งกับพระพุทธพจน์ เพราะพระพุทธเจ้ากล่าวไว้ชัดเจนว่า จิตเกิดดับ วิญญาณก็เกิดดับตามเหตุปัจจัย ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุชื่อ “สาติ เกวัฏฏบุตร” (สาติ ผู้เป็นลูกชาวประมง) ว่า ดูกรโมฆบุรุษ วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น เรากล่าวแล้วโดยปริยายเป็นอเนกมิใช่หรือ ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัย มิได้มี ดูกรโมฆบุรุษ ก็เมื่อเป็นดังนั้น เธอกล่าวตู่เราด้วย ขุดตนเสียด้วย จะประสพบาปมิใช่บุญมากด้วย เพราะทิฏฐิที่ตนถือชั่วแล้ว ดูกรโมฆบุรุษ ก็ความเห็นนั้นของเธอ จักเป็นไปเพื่อโทษไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน จึงขอเตือนท่านชาวพุทธทั้งหลายว่าอย่าหลงเชื่อ ลัทธิจิตเที่ยงนี้ เพราะไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสั่งสอน  ซึ่งในอรรถกถามหาปรินิพพานสูตรกล่าวไว้ว่า ถ้าค้านสุตตะ ก็คือค้านพระพุทธเจ้า ส่วนผู้ที่ค้านพระพุทธเจ้าจะมีคติเช่นไรก็คงไม่ต้องบอกนะครับ

โพสท์ใน การปฏิบัติธรรม, ธรรมะและศาสนา | 1 ความเห็น

บัว 3 เหล่า หรือ บัว 4 เหล่า ?

เรื่องนี้มีที่มา จากเรื่องในพุทธประวัติที่ว่า ท้าว สหัมบดีพรหมมาอาราธนาพระพุทธเจ้าให้แสดงธรรมโปรดสัตว์โลก ซึ่งระพุทธเจ้าได้พิจารณาสัตว์โลกอุปมาเหมือนดอกบัวในแง่มุมต่างๆ ก่อน ที่จะตอบรับอาราธนาท้าวสหัมบดีพรหม

ส่วนใหญ่เข้าใจว่า ดอกบัวที่พระพุทธเจ้าทรง พิจารณามีด้วยกัน 4 เหล่า บางกลุ่มแย้งว่าที่ถูกมี 3 เหล่า เรื่องนี้สรุปได้ดังนี้

กลุ่มที่บอกว่าบัว 3 เหล่า เพราะอ้างอิงจากพระไตรปิฎก ซึ่งเหตุการณ์ในตอนนี้มีหลายจุดที่ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึง พุทธประวัติหลังตรัสรู้ เช่น ใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ (พระไตรปิฏกเล่มที่ ๔ ), ในปาสราสิสูตร  และ ในโพธิราชกุมารสูตร

ซึ่งสรุปจากพระสูตรได้ว่า

ทรงอุปมา สัตว์โลกดังดอกบัว 3 เหล่า (ดอกอุบลในกออุบล ดอกปทุมในกอปทุม หรือดอกบุณฑริกใน กอบุณฑริก) อยู่ในน้ำ 3 ระดับ (คือ ในน้ำ ปริ่มน้ำ และพ้นน้ำ)

กลุ่มที่บอกว่าบัว 4 เหล่าเพราะอ้างอิงจาก อรรถกถา
เช่น อรรถกถาปาสราสิสูตร กล่าวว่า
ในดอกอุบลเหล่านี้เหล่าใดขึ้นพ้นน้ำรออยู่ เหล่า นั้นคอยรับสัมผัสแสงอาทิตย์จะบานในวันนี้ เหล่า ใดตั้งอยู่เสมอน้ำ เหล่านั้นก็จะบานในวันพรุ่งนี้ เหล่าใดจมอยู่ใต้น้ำ จมอยู่ในน้ำธรรมชาติเลี้ยงไว้ เหล่านั้นก็จะบานในวันที่ ๓. ส่วนดอกอุบลที่อยู่ ในสระเป็นต้น แม้เหล่าอื่นอยู่ใต้น้ำยังมีอยู่ เหล่าใดจักไม่บานเหล่านั้นก็จักเป็นภักษาของปลาและเต่าอย่างเดียว ดอกบัวเหล่านั้นท่านแสดงไว้ ยังไม่ขึ้นสู่บาลี (ไม่อยู่ในพระไตรปิฎก) ก็พึงแสดง เหมือนอย่างว่า ดอกไม้ ๔ อย่างเหล่านั้นฉันใด แล้วก็เปรียบกับ บุคคล ๔ จำพวก คือ อุคฆฏิตัญญู วิปัจจิตัญญู เนยยะ ปทปรมะ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ในบุคคล ๔ เหล่านั้น
1) บุคคลใดตรัสรู้ธรรมพร้อม กับเวลายกหัวข้อธรรม บุคคลนี้ท่านเรียกว่า อุคฆฏิตัญญู.
2) บุคคลใดตรัสรู้ธรรมเมื่อท่านแจกอรรถแห่งภาษิตสังเขปได้โดยพิสดาร บุคคลนี้ท่านเรียก ว่า วิปัจจิตัญญู.
3) บุคคลใดใส่ใจโดยแยบคายทั้งโดย อุเทศทั้งโดยปริปุจฉา ส้องเสพคบหาเข้าใกล้ กัลยาณมิตร จึงตรัสรู้ธรรมบุคคลนี้ท่านเรียกว่า เนยยะ.
4) บุคคลใดฟังมากก็ดี กล่าวมากก็ดี ทรงจำ มากก็ดี สอนมากก็ดี ก็ยังไม่ตรัสรู้ธรรมในชาตินั้น บุคคลนี้ท่านเรียกว่า ปทปรมะ

พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมให้ สำเร็จประโยชน์ในอัตตภาพนี้เท่านั้นแก่บุคคล ๓ ประเภท ในจำนวนบุคคลเหล่านั้น ปทปรมะมี วาสนาเพื่อประโยชน์ในอนาคตกาล

โดยสรุปคือสัตว์ใน 3 แดนโลกธาตุแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่พอสอนให้บรรลุธรรมได้ (ภัพพบุคคล) และกลุ่มที่สอนให้บรรลุธรรมไม่ได้ (อภัพพบุคคล) คือ พวก ปทปรมะ แต่พอเป็นปัจจัยใน ชาติต่อๆไป

ซึ่งในกลุ่มภัพพบุคคลนี้ ได้แก่ อุคฆฏิตัญญู วิปัจจิตัญญู และ เนยยะ. อรรถกถาบอกว่า บุคคลเหล่านี้มีจริต 6 จริต คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต วิตกจริต ศรัทธาจริตและพุทธิจริต.

ส่วนกลุ่ม อภัพพบุคคล หรือ ปทปรมะ ซึ่ง ยังแปลว่า มีบทหรือหนทางที่ยาวไกลกว่าจะตรัสรู้ อาจจะมี ทั้งพวกที่ดี เช่น พวกพระโพธิสัตว์, พวกที่ปรารถนาเอตทัตคะ หรือ อัครสาวก, กัลยาณปุถุชน  และพวกที่ไม่ดี เช่น พวก มิจฉาทิฏฐิ ก็ได้ ไม่ใช่พวกที่ไม่ดีอย่างเดียว อย่างที่หลายคนเข้าใจ

สรุป

ความจริงแล้ว พระพุทธเจ้าเล่าพุทธประวัติด้วย
พระองค์เอง ว่าพิจารณา ดอกบัว 3 เหล่า คือบัวปทุม
บัวอุบล บัวบุณฑริก บางดอกของแต่ละเหล่า อยู่
ในน้ำ 3 ระดับ คือ ในน้ำ ปริ่มน้ำ และ พ้นน้ำ

แต่อรรถกถาเป็นแบ่งเป็น 4 เหล่าโดยแบ่งตาม
ระดับที่อยู่ในน้ำ คือ พื้นน้ำ ในน้ำ ปริ่มน้ำ และ
พ้นน้ำ เปรียบเทียบกับคน 4 จำพวกคือ ปทปรมะ
เนยยะ วิปัจจิตัญญู และ อุคฆฏิตัญญู ตามลำดับ

 อ้างอิง

พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ (พระไตรปิฏกเล่มที่ ๔ )

ปาสราสิสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=5384&Z=5762)

โพธิราชกุมารสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระ สุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ (http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=7663&Z=8236)

อรรถกถาปาสราสิสูตร
(http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.p
hp?b=12.0&i=312&p=2)

 

โพสท์ใน #พระพุทธเจ้า#, การปฏิบัติธรรม, ธรรมะและศาสนา | ใส่ความเห็น

พระพุทธเจ้า ทำอะไรบ้างหลังจากตรัสรู้เสร็จแล้ว จนกระทั่งตัดสินใจแสดงธรรม

เรื่องนี้มีบันทึกไว้ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ และอรรถกถาดังรายละเอียดสรุปต่อไปนี้

สัปดาห์ที่ 1 

พระพุทธเจ้ายังคงนั่งสมาธิใต้ต้นโพธิต่อไปอีก 7 วันหลังจากตรัสรู้ เพื่อเสวยวิมุติสุขระหว่างนั้นก็พิจารณาปฏิจจสมุปบาทเวลาในช่วงหัวค่ำ

สัปดาห์ที่ 2

พระพุทธเจ้าออกจากสมาธิเดินจากต้นโพธิไปยังต้นไทรแล้วนั่งสมาธิต่ออีก 7 วันหลังจากนั้นมีพราหมณ์ที่ชอบตวาดคนผ่านมาพบ พราหมณ์ถามพระพุทธเจ้าว่า “อะไรที่ทำให้คนเป็นพราหมณ์” พระพุทธเจ้าตอบว่า “พราหมณ์คือผู้ที่ละเลิกการทำบาปกรรมแล้ว เป็นผู้ไม่ตวาดผู้อื่น มีความสำรวม ไม่มีกิเลสในใจ ไม่มีอารมณ์ใดๆที่สะเทือนถึงใจให้ใจหวั่นไหวได้ นี่จึงเรียกว่าเป็นพราหมณ์โดยแท้” พราหมณ์นั้นก็จากไป

สัปดาห์ที่ 3

พระพุทธเจ้าออกจากต้นไทร ไปนั่งสมาธิที่ต้นจิก (มุจจลินท์) เกิดฝนตกตลอด 7 วันแต่มีพญานาคราชมาแผ่พังพานกันลม กันฝน กัน แมลง ไม่ให้มารบกวนพระพุทธเจ้า

สัปดาห์ที่ 4

พระพุทธเจ้าออกจากต้นจิก (มุจจลินท์)   ไปนั่งสมาธิที่ต้นเกด (ราชายตนะ) ตลอด 7 วัน ระหว่างนั้นมีพ่อค้า 2 คนชื่อ ตปุสสะ และ ภัลลิกะ เข้ามาถวายสัตตุผง และ สัตตุก้อนแก่พระพุทธเจ้า เพราะมีเทวดาที่เคยเป็นญาติเก่ามากระซิบบอกบุญ ท้าวจาตุมหาราช แต่ละองค์นำบาตรหินมาองค์ละใบ พระพุทธเจ้าประสานรวมใช้บาตรรับ สัตตุผง และ สัตตุก้อน หลังจากนั้นพ่อค้าทั้ง 2 คนนี้ก็กล่าวขอถึงพระพุทธ และพระธรรมเป็นที่พึ่งทางใจตลอดชีวิต

ตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพระองค์พึงทำการอภิวาท
และยืนรับใครเล่า พระเจ้าข้า ? พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงลูบพระเศียร. พระเกศา
ติดพระหัตถ์ ได้ประทานพระเกศาเหล่านั้น แก่เขาทั้งสอง ด้วยตรัสว่าท่านจง
รักษาผมเหล่านี้ไว้. สองพานิชนั้น ได้พระเกศธาตุราวกะได้อภิเษกด้วย
อมตธรรม รื่นเริงยินดีถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วหลีกไป

หลังจากครบสัปดาห์ที่ 4

พระพุทธเจ้าออกจากต้นเกด  ไปที่ต้นไทร และเกิดท้อพระทัยในการสั่งสอนธรรมที่พระองค์ได้บรรลุแก่สัตว์โลก พระพรหมมาอาราธนาให้พระองค์สอนสัตว์โลกบางเหล่าที่พอสอนได้ พระองค์ก็พิจารณาเห็นว่าจริง และอุปมา สัตว์โลกดังดอกบัว 3 เหล่า (ดอกอุบลในกออุบล ดอกปทุมในกอปทุม หรือดอกบุณฑริกในกอบุณฑริก) อยู่ในน้ำ 3 ระดับ  (คือ ในน้ำ ปริ่มน้ำ และพ้นน้ำ) (ไม่ใช่บัว 4 เหล่าและไม่มีบัวใต้ตมในพระไตรปิฎก) จึงตัดสินใจที่จะแสดงธรรมต่อสัตว์โลกและตอบรับคำอาราธนาของพระพรหม

อย่างไรก็ตาม อรรถกถา ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ระหว่างเวลาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้จึงถึงที่พระพรหมมาอาราธนา ไม่ใช่ 4 สัปดาห์ ดังปรากฎในพระไตรปิฎก แต่เป็น 7 สัปดาห์ดังรายละเอียดต่อไปนี้

สัปดาห์ที่ 1

พระพุทธเจ้ายังคงนั่งสมาธิใต้ต้นโพธิต่อไปอีก 7 วันหลังจากตรัสรู้ เพื่อเสวยวิมุติสุขระหว่างนั้นก็พิจารณาปฏิจจสมุปบาทเวลาในช่วงหัวค่ำ

สัปดาห์ที่ 2

พระพุทธเจ้าแสดง ยมกปาฏิหาริย์ และไปยืนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากต้นโพธิ แล้วยืนจ้องต้นโพธิตาไม่กะพริบตลอด 7 วัน สถานที่นั้น ชื่ออนิมมิสเจดีย์

สัปดาห์ที่ 3

พระพุทธเจ้าเดินจงกรมกลับไปกลับมาระหว่างตำแหน่งที่ยืนจ้องต้นโพธิกับตำแหน่งที่นั่งตรัสรู้ในตอนแรก (แต่อรรถกถา ปาสราสิสูตร บอกว่า เดินจากระหว่างตำแหน่งที่จ้องต้นโพธิ์ไปทางทิศตะวันตกเลยพระบัลลังก์ที่ตรัสรู้และเดินกลับไปกลับมาจากจุดที่ยืนตอนแรกกับจุดทางทิศตะวันตกที่เลยพระบัลลังก์) เป็นเวลาตลอด 7 วัน สถานที่นั้น ชื่อรัตนจงกรมเจดีย์.

สัปดาห์ที่ 4

ต่อจากนั้น เทวดาทั้งหลายนิรมิตเรือนแก้วขึ้นทางด้านทิศประจิม (ตะวันตก) พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จนั่งขัดสมาธิ ณ เรือนแก้วนั้น ทรงพิจารณาอภิธรรมปิฏกคือสมันตปัฏฐาน ซึ่งมีนัยไม่สิ้นสุดในอภิธรรมปิฏกนี้ โดยพิสดารให้สัปดาห์ ๑ ผ่านพ้นไป. สถานที่นั้น ชื่อ รัตนฆรเจดีย์.

สัปดาห์ที่ 5

พระพุทธเจ้าออกจากสมาธิเดินจากต้นโพธิไปทางทิศตะวันออกยังต้นไทรแล้วนั่งสมาธิต่ออีก 7 วันหลังจากนั้นมีพราหมณ์ที่ชอบตวาดคนผ่านมาพบ และได้สนทนากับพราหมณ์ แต่ในอรรถกถา ปาสราสิสูตร ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องพราหมณ์ที่มาพบแต่บอกว่าในช่วงสัปดาห์ที่ 5 นี้ เสด็จเข้าไปยังอชปาลนิโครธ. ทรงเฟ้นธรรมแม้ในที่นั้น ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่. เมื่อทรงเฟ้นธรรมก็ทรงพิจารณาเพียงนัยแห่งอภิธรรมในธรรมนั้น คือคัมภีร์แรกชื่อธัมมสังคณีปกรณ์ ต่อนั้นก็วิภังคปกรณ์ ธาตุกถาปกรณ์ บุคคลบัญญัติปกรณ์ กถาวัตถุปกรณ์ ยมกปกรณ์ ต่อนั้น มหาปกรณ์ชื่อปัฏฐาน

ซึ่งจุดนี้มีข้อผิดสังเกตุใน อรรถกถา ปาสราสิสูตร ตรงที่ขีดเส้นใต้ไว้ น่าจะเป็นไปได้ว่า มั่วเล็กน้อย เพราะ คัมภีร์ กถาวัตถุปกรณ์ นี้เกิดขึ้นประมาณ 200-300 ปีหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว เป็นการรวบรวมลักษณะคำถามเกี่ยวกับความเห็นผิดต่างๆ และตอบแก้โดยพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช จึงเป็นไปไม่ได้ที่พระพุทธเจ้าจะมาพิจารณาคัมภีร์นี้ตอนตรัสรู้ใหม่ๆ

ซึ่งความเข้าใจผิดน่าจะเกิดจากการที่ผู้รวบรวมเนื้อความในอรรถกถาปาสราสิสูตรนี้ซึ่งเกิดหลังการสังคายนาครั้งที่ 3 เข้าใจผิดว่า อภิธรรมในพระสูตรหมายถึง พระอภิธรรมปิฎก ซึ่งเป็นตำรา 7 เล่ม(คัมภีร์) ที่เรียบเรียงภายหลังพุทธกาลแล้วไปขยายความว่า อภิธรรมที่พระพุทธเจ้าพิจารณาคือ 7 คัมภีร์ โดยหารู้ไม่ว่าคัมภีร์ กถาวัตถุปกรณ์ เกิดหลังพุทธกาล ซึ่งความจริงแล้ว คำว่าอภิธรรมในพระสูตรนั้นไม่ได้หมายถึงพระอภิธรรมปิฎกที่เป็นตำรา 7 เล่ม แต่หมายถึง โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ หรือ ธรรมอันเกื้อกูลให้เกิดการตรัสรู้ (ดังรายละเอียดในกินติสูตร)

สัปดาห์ที่ 6

พระพุทธเจ้าออกจากต้นไทร ไปนั่งสมาธิที่ต้นจิก (มุจจลินท์) เกิดฝนตกตลอด 7 วันแต่มีพญานาคราชมาแผ่พังพานกันลม กันฝน กัน แมลง ไม่ให้มารบกวนพระพุทธเจ้า

สัปดาห์ที่ 7

พระพุทธเจ้าออกจากต้นจิก (มุจจลินท์)   ไปนั่งสมาธิที่ต้นเกด (ราชายตนะ) ตลอด 7 วัน  ระหว่างนั้นมีพ่อค้า 2 คนชื่อ ตปุสสะ และ ภัลลิกะ เข้ามาถวายสัตตุผง และ สัตตุก้อน ท้าวจาตุมหาราช แต่ละองค์นำบาตรหินมาองค์ละใบ รวม 4 ใบ พระพุทธเจ้าประสานรวมบาตรทั้ง 4 เข้าเป็นใบเดียวกัน แล้วใช้บาตรรับ สัตตุผง และ สัตตุก้อน หลังจากนั้นพ่อค้าทั้ง 2 คนนี้ก็กล่าวขอถึงพระพุทธ และพระธรรมเป็นที่พึ่งทางใจตลอดชีวิต และขอสิ่งที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าลูบพระเศียรพระองค์ท่านได้พระเกศาติดมือมา ก็มอบให้พ่อค้าทั้ง 2 ก่อนจะจากไป (แต่ใน อรรถกถา ปาสราสิสูตร ระบุว่าทรงนั่งสมาธิที่ต้นเกดตลอด 7 วันโดยไม่มีใครมากวน)

หลังจากครบสัปดาห์ที่ 7 

พระพุทธเจ้าออกจากต้นเกด  ไปที่ต้นไทร และเกิดท้อพระทัยในการสั่งสอนธรรมที่พระองค์ได้บรรลุแก่สัตว์โลก เพราะพระองค์ทราบว่าถ้าทำเช่นนี้ พระพรหมจะมาอาราธนาให้พระองค์สอนสัตว์โลกบางเหล่าที่พอสอนได้ เพราะชาวโลกนับถือพรหมถ้าขนาดพรหมมาเชิญแสดงว่าธรรมะเป็นของสูง หลังจากนั้นพระองค์ก็พิจารณาเห็นว่าจริงตามที่พระพรหมบอก และอุปมา สัตว์โลกดังดอกบัว 3 เหล่า  อยู่ในน้ำ 3 ระดับ  จึงตัดสินใจที่จะแสดงธรรมต่อสัตว์โลกและตอบรับคำอาราธนาของพระพรหม

แต่ใน อรรถกถา ปาสราสิสูตร บอกว่า ก่อนที่จะออกจาต้นเกด ทรงเคี้ยวไม้สีฟันและสมอยาที่ท้าวสักกะจอมเทพนำมาถวาย ทรงบ้วนพระโอฐแล้ว เมื่อท้าวจตุโลกบาลน้อมบาตรศิลามีค่าพิเศษถวาย ก็เสวยบิณฑบาตของตปุสสะและภัลลิกะสองพาณิชแล้วเสด็จกลับมาประทับนั่ง ณ อชปาลนิโครธอีก ทรงเกิดปริวิตกนี้ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็ทรงเคยปริวิตกกันมาแล้ว คือ ท้อพระทัยที่จะสั่งสอน หลังจากนั้นก็มีพระพรหมมาอาราธนา (และล่าประวัติพระพรหมที่มาอาราธนาว่า เคยเป็นพระภิกษุชื่อสหกะ บวชในสมัยพระกัสสปะพุทธเจ้า แล้วได้ฌาณเลยไปเกิดเป็นพรหมอายุ 1 กัป) และพิจารณาสัตว์โลก ก่อนรับอาราธนาพระพรหมว่าจะสั่งสอนสัตว์โลก

ไว้จะมาเล่ารายละเอียดหลังจากนี้ในโอกาสหน้า

——————————————————————

เชิงอรรถ

ต่อไปเนื้อหาในพระปิฎกพระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑  ผู้เขียนตัดคำฟุ่มเฟือยบางคำออก และเรียบเรียงใหม่

สัปดาห์แรก :  โพธิกถา

โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า แรกตรัสรู้ประทับอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ตลอด ๗ วัน และทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาทเป็นอนุโลมและปฏิโลม ตลอดปฐมยามแห่งราตรี

สัปดาห์ที่ 2 :อชปาลนิโครธกถา  เรื่องพราหมณ์หุหุกชาติ (พรามหณ์ชอบตวาดคน)

ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากสมาธินั้น
เสด็จจากควงไม้โพธิพฤกษ์เข้าไปยังต้นไม้อชปาลนิโครธ (ต้นไทร) แล้วประทับนั่งด้วย บัลลังก์เดียวเสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้อชปาลนิโครธตลอด ๗ วัน. ครั้งนั้น พราหมณ์หุหุกชาติคนหนึ่งผ่านมาและเข้าไป กราบทูลคำนี้ แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ก็แลธรรมเหล่าไหนทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรง
เปล่งอุทานนี้ในเวลานั้น ว่า

“พราหมณ์ใดมีบาปธรรมอันลอยเสีย
แล้ว ไม่ตวาดผู้อื่นว่า หึหึ ไม่มีกิเลสดุจน้ำ
ฝาด มีตนสำรวมแล้ว ถึงที่สุดแห่งเวท มี
พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว พราหมณ์นั้นไม่มี
กิเลสเครื่องฟูขึ้น ในอารมณ์ไหน ๆ ในโลก
ควรกล่าวถ้อยคำว่า ตนเป็นพราหมณ์โดย
ธรรม”

สัปดาห์ที่ 3 : มุจจลินทกถา เรื่องมุจลินทนาคราช

ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากสมาธินั้น
เสด็จจากควงไม้อชปาลนิโครธ เข้าไปยังต้นไม้มุจจลินท์ แล้วประทับนั่งด้วย บัลลังก์เดียวเสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้มุจจลินท์ตลอด ๗ วัน  ครั้งนั้น เมฆใหญ่ในสมัยมิใช่ฤดูกาลตั้งขึ้นแล้ว ฝนตกพรำเจือด้วยลมหนาว ตลอด ๗ วัน ครั้งนั้น มุจจลินทนาคราชออกจากที่อยู่ของตนได้แวดวงพระกายพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยขนด ๗ รอบ ได้แผ่พังพานใหญ่เหนือพระเศียรสถิตอยู่ด้วยหวังใจว่า ความร้อน อย่าเบียดเบียนพระผู้มีพระภาคเจ้า สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน อย่าเบียดเบียนพระ
ผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นล่วง ๗ วัน มุจจลินทนาคราชรู้ว่า อากาศปลอดโปร่ง ปราศจากฝนแล้ว จึงคลายขนดจากพระกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า จำแลงรูป ของตนเป็นเพศมาณพ ได้ยืนประคองอัญชลีถวายมันสการพระผู้มีพระภาคเจ้าทางเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า.

พระพุทธเจ้าเปล่งอุทานว่า

ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้สันโดษ
มีธรรมปรากฏแล้ว เห็นอยู่ ความไม่พยาบาท
คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขใน
โลก ความปราศจากกำหนัด คือความล่วง
กามทั้งหลายเสียได้ เป็นสุขในโลก การกำ
จัดอัสมิมานะเสียได้นั้นแล เป็นสุขอย่างยิ่ง.

สัปดาห์ที่ 4 : ราชายตนกถา เรื่องตปุสสะ ภัลลิกะ ๒ พ่อค้า

ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากสมาธินั้น
แล้วเสด็จจากควงไม้มุจจลินท์ เข้าไปยังต้นไม้ราชายตนะ แล้วประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้ราชายตนะ ตลอด ๗ วัน ก็สมัยนั้น พ่อค้าชื่อตปุสสะ ๑ ภัลลิกะ ๑ เดินทางไกลจากอุกกลชนบทถึงตำบลนั้น ครั้งนั้น เทพดาผู้เป็นญาติสาโลหิตของตปุสสะภัลลิกะ ๒ พ่อค้า ได้กล่าวคำนี้กะ ๒ พ่อค้านั้นว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นี้ แรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงไม้ราชายตนะ ท่านทั้งสองจงไป บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ด้วยสัตตุผง และ สัตตุก้อน การบูชาของท่าน
ทั้งสองนั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ท่านทั้งหลายตลอดกาลนาน.

ครั้งนั้น พ่อค้าชื่อตปุสสะ และภัลลิกะ ถือสัตตุผงและสัตตุก้อนเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วถวายบังคม ได้ยีนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้ทูลคำนี้แค่ พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้พระภาคเจ้าจงทรงรับสัตตุผง
สัตตุก้อนของข้าพระพุทธเจ้าทั้งสอง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนาน ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงปริวิตกว่า พระตถาคตทั้งหลาย ไม่รับวัตถุด้วยมือ เราจะพึงรับสัตตุผง และสัตตุก้อนด้วยอะไรหนอ. ลำดับนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ ทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของ พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยใจของตนแล้ว เสด็จมาจาก ๔ ทิศ ทรงนำบาตรที่สำเร็จ ด้วยศิลา ๔ ใบเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงรับสัตตุผงและสัตตุก้อนด้วยบาตรนี้ พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าอฐิษฐานรวมบาตรทั้ง 4 เข้าเป็นใบเดียวกันแล้ว ทรงใช้บาตรสำเร็จด้วยศิลาอันใหม่เอี่ยมนั้น รับสัตตุผง และสัตตุก้อน แล้วเสวย. ครั้งนั้น พ่อค้าตปุสสะและภัลลิกะ ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าและ และพระธรรมว่า เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้า ทั้งสองว่าเป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.

ก็นายพาณิชสองคนนั้น ได้เป็นอุบาสกล่าวอ้าง ๒ รัตนะ เป็นชุดแรกในโลก.

หลังครบสัปดาห์ที่ 4 : อัปโปสสุกกกถา เรื่องความขวนขวายน้อย และ พรหมยาจนกถา เรื่องพรหมทูลอาราธนา

ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากสมาธินั้น แล้ว
เสด็จจากควงไม้ราชายตนะ เข้าไปยังต้นไม้อชปาลนิโครธ ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ ควงไม้อชปาลนิโครธนั้น และพระองค์เสด็จไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีพระปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ เป็นคุณอันลึกเห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต ไม่หยั่งลงสู่ความตรึก ละเอียดเป็นวิสัยที่บัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง ส่วนหมู่สัตว์นี้เริงรมย์ด้วยอาลัยยินดีในอาลัย ชื่นชมในอาลัย ฐานะคือความที่อวิชชาเป็นปัจจัยแห่งสังขารเป็นต้นนี้ เป็นสภาพอาศัยปัจจัยเกิดชั้นนี้ อันหมู่สัตว์ผู้เริงรมย์ด้วยอาลัย ยินดีใน
อาลัย. ชื่นชมในอาลัยเห็นได้ยาก แม้ฐานะคือธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวงเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สิ้นกำหนัด เป็นที่ดับสนิทหากิเลสเครื่องร้อยรัดมิได้ นี้ก็แสนยากที่จะเห็นได้ ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรมสัตว์เหล่าอื่นก็จะไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเรา ข้อนั้น จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา.

พระพุทธเจ้าทรงดำริว่า

บัดนี้ เรายังไม่ควรจะประกาศธรรมที่เราได้บรรลุแล้วโดยยาก เพราะธรรมนี้อันสัตว์ผู้อันราคะและโทสะครอบงำแล้วไม่ตรัส
รู้ได้ง่าย สัตว์ผู้อันราคะย้อมแล้วถูกกองอวิชชาหุ้มห่อแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันละเอียดลึกซึ้ง ยากที่จะเห็น ละเอียดยิ่ง อันจะยังสัตว์ให้ถึงธรรมที่ทวนกระแส คือพระนิพพาน.

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาเห็นอยู่ ดังนี้ พระทัยก็น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อทรงแสดงธรรม.

ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทราบพระปริวิตกแห่งจิตของพระผู้-
มีพระภาคเจ้าด้วยใจของตนแล้วเกิดความปริวิตกว่า ชาวเราผู้เจริญ โลกจักฉิบหายหนอ โลกจักวินาศหนอ เพราะตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อทรงแสดงธรรมลำดับนั้น ท้าวสหับดีพรหมได้หายไปในพรหมโลก มาปรากฏ ณ เบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดุจบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้ แขนที่เหยียดฉะนั้น ครั้นแล้วห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าคุกชาณุมณฑลเบื้องขวา ลงบนแผ่นดิน ประณมอัญชลีไปทางพระผู้มีภาคเจ้าแล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มี. พระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าได้โปรดทรงแสดงธรรม
ขอพระสุคตได้โปรดทรงแสดงธรรม เพราะสัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีในจักษุ น้อยมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี .ท้าวสหัมบดีพรหมได้กราบทูลดังนี้แล้ว จึงกราบทูลเป็นประพันธคาถาต่อไปว่า:-

เมื่อก่อนธรรมไม่บริสุทธิ์อันคนมีมลทินทั้งหลาย คิดแล้วได้ปรากฏในมคธชนบท ขอพระองค์ได้โปรดทรงเปิดประตูแห่ง
อมตธรรมนี้ ขอสัตว์ทั้งหลายจงฟังธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้หมดมลทินตรัสรู้แล้วตามลำดับ เปรียบเหมือนบุรุษมีจักษุยืน
อยู่บนยอดภูเขา ซึ่งล้วนแล้วด้วยศิลา พึงเห็นชุมชนได้โดยรอบฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้มีปัญญาดี มีพระปัญญาจักษุรอบคอบ ขอ
พระองค์ผู้ปราศจากความโศกจงเสด็จขั้น สู่ปราสาท อันสำเร็จด้วยธรรม แล้วทรงพิจารณาชุมชนผู้เกลื่อนกล่นด้วยความโศก
ผู้อันชาติและชราครอบงำแล้ว มีอุปมัยฉันนั้นเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ทรงชนะสงความ ผู้นำหมู่หาหนี้มิได้ ขอพระ-
องค์จงทรงอุตสาหะเที่ยวไปในโลกเถิด ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดแสดงธรรมเพราะสัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบคำทูลอาราธนาของ
พรหมและทรงอาศัยความกรุณาในหมู่สัตว์ จึงทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักขุเมื่อตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักขุ ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีคือกิเลสใน จักษุน้อยก็มี ที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุมากก็มี ที่มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี ที่มีอินทรีย์ อ่อนก็มี ที่มีอาการดีก็มี ที่มีอาการทรามก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี ที่จะสอน
ให้รู้ได้ยากก็มี ที่มีปรกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัยอยู่ก็มี. มีอุปมาเหมือนดอกอุบลในกออุบล ดอกปทุมในกอปทุม หรือดอก บุณฑริกในกอบุณฑริก ที่เกิดแล้วในน้ำ เจริญแล้วในน้ำ งอกงามแล้วในน้ำ บางเหล่ายังจมในน้ำ อันน้ำเลี้ยงไว้ บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่ พ้นน้ำ อันน้ำไม่ติดแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักขุ ได้ทรงเห็นสัตว์ ทั้งหลาย บางพวกมีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย บางพวกมีธุลีคือกิเลสในจักษุมากบางพวกมีอินทรีย์แก่กล้า บางพวกมีอินทรีย์อ่อน บางพวกมีอาการดี บางพวกมีอาการทราม บางพวกสอนให้รู้ได้ง่าย บางพวกสอนให้รู้ได้ยาก บางพวกมีปรกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัยอยู่ ฉันนั้น เหมือนกัน

ครั้นแล้วได้ตรัสตอบท้าวสหัมบดีพรหมว่า

เราเปิดประตูอมตะแก่ท่านแล้ว สัตว์
เหล่าใดจะฟัง จงปล่อยศรัทธามาเถิด ดูก่อน
พรหม เพราะเรามีความสำคัญในความลำ-
บาก จงไม่แสดงธรรมที่เราคล่องแคล่ว
ประณีต ในหมู่มนุษย์.

ครั้นท้าวสหัมบดีพรหมทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทาน
โอกาสเพื่อจะแสดงธรรมแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าทำประทักษิณแล้ว อันตรธานไปในที่นั้นแล.

โพสท์ใน #พระพุทธเจ้า#, ธรรมะและศาสนา | ใส่ความเห็น