พระปัจเจกพุทธเจ้า

พระปัจเจกพุทธเจ้า คือ ผู้ที่ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ได้เองโดยไม่มีใครสอนวิปัสสนา ซึ่งจะเกิดในช่วงที่ไม่มีพุทธศาสนา พระปัจเจกพุทธเจ้าอาจจะเกิดขึ้น องค์เดียว หรือ หลายองค์พร้อมกันในยุคนั้นๆ ก็ได้ (แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดเพียงแค่องค์เดียวในยุคนั้นๆ จะเกิดพร้อมกันไม่ได้) ผู้ที่มีบุญบารมีมากแต่ยังไม่ได้บรรลุธรรมในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง เมื่อถึงช่วงเวลาที่ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศศาสนา ท่านก็จะพิจารณาอารมณ์ทำวิปัสสนาได้เองโดยไม่มีใครสอนวิธีทำ จนสามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้เอง   แต่พระปัจเจกพุทธเจ้าก็มีการสั่งสอนตามสมควรคือ สอนเกี่ยวกับอภิสมาจาริกวัตร  คือ การประพฤติที่ดีงาม เป็นต้น แต่ไม่เน้นสอนวิธีปฏิบัติให้บรรลุธรรม (ท่านสอนได้แต่ไม่มีใครรู้ตามด้วยคำสอนของท่าน) และไม่ได้ตั้งเป็นลัทธิ ศาสนา

ตัวอย่าง ผู้ที่จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ต่อไปในอนาคต เช่น
1. เทวทัต
2. พระเจ้าอชาตศัตรู ในสามัญญผลสูตร พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ถ้าพระเจ้าอชาตศัตรูไม่ฆ่าพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพ่อของตนเองแล้ว ก็จะได้ดวงตาเห็นธรรม (อรรถกถาบอกในที่หมายถึง เป็นพระโสดาบัน) ต่อหน้าพระพุทธเจ้าเลยทีเดียว และ อรรถกถาก็อธิบายต่ออีกว่า หลังจาก ที่พระเจ้าอชาตศัตรูได้เป็นผู้สนับสนุนในการทำสังคายนาครั้งแรกแล้ว ก็ตายไปเกิดในนรกชื่อ โลหะกถมภี (กระทะทองแดง) ด้วยกรรมที่ฆ่าพ่อตนเอง โดยอยู่เป็นเวลา 60,000 ปี (อยู่ก้นกระทะ 30,000 ปี ลอยขึ้นมาอยู่ปริ่มน้ำอีก 30,000 ปี) แล้วจึงพ้นจากนรก และในอนาคตก็จะตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่า “ชีวิตวิเสส”

ในพระไตรปิฎก เรื่องปัจเจกพุทธาปทานที่ ๒ (ว่าด้วยการให้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า) มีบันทึกไว้ว่าพระอานนท์เคยถามพระพุทธเจ้าที่วัดเชตวันว่า

“พระปัจเจกพุทธเจ้า มีจริงหรือ อะไรที่ทำให้ท่านเหล่านั้นสำเสร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า”?

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“พระปัจเจกพุทธเจ้าสร้างบุญในพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ยังไม่ได้บรรลุธรรมในศาสนาของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ด้วยความสังเวชนั้นแล ท่านเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์มีปัญญาแก่กล้า ถึงจะไม่มีพระพุทธเจ้าก็ย่อมบรรลุปัจเจกโพธิญาณได้แม้ด้วยอารมณ์นิดหน่อย ในโลกทั้งปวง เว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีใครเสมอพระปัจเจกพุทธเจ้าเลย”

“พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย มีสัญญาในวัตถุอันมีราคะว่า ปราศจากราคะ มีจิตปราศจากกำหนัดในโลกอันกำหนัด ละธรรมเครื่องเนิ่นช้า (ตัณหา มานะ ทิษฐิ) การแพ้ และความดิ้นรน แล้ว จึงบรรลุปัจเจกโพธิญาณ ณ สถานที่เกิดนั้นเอง ท่านวางอาญาในสรรพสัตว์ ไม่เบียดเบียนแม้ผู้หนึ่งในสัตว์ เหล่านั้น มีจิตประกอบด้วยเมตตา หวังประโยชน์เกื้อกูล ไม่ปรารถนาบุตร ไม่ปรารถนาสหาย เที่ยวไปผู้เดียวเปรียบเหมือนนอแรด ฉะนั้น”

“ความเสน่หาย่อมมีแก่บุคคลผู้เกิดความเกี่ยวข้อง ทุกข์ที่อาศัยความเสน่หานี้มีมากมาย ท่านเล็งเห็นโทษอันเกิดแต่ความเสน่หา จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“ผู้มีจิตพัวพัน ช่วยอนุเคราะห์มิตรสหาย ย่อมทำตนให้เสื่อมประโยชน์ ท่านมองเห็นภัยนี้ ในความสนิทสนม จึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“ความเสน่หาในบุตรและภรรยา เปรียบเหมือนไม้ไผ่กอใหญ่เกี่ยวกันอยู่ ท่านไม่ข้องในบุตรและภริยา ดังหน่อไม้ไผ่ เที่ยวไปผู้เดียวเช่นกับนอแรด ฉะนั้น

“ท่านเป็นวิญญูชนหวังความเสรี จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“เหมือนเนื้อที่ไม่ถูกผูกมัด เที่ยวหาเหยื่อในป่าตามความปรารถนา ฉะนั้น”

“ท่านเล็งเห็นความไม่โลภ ความเสรี จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“การเล่น (เป็น) ความยินดีมีอยู่ในท่ามกลางสหาย ส่วนความรักในบุตรเป็นกิเลสใหญ่ ท่านเกลียดความวิปโยคเพราะของที่รัก จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“ท่านเป็นผู้แผ่เมตตาไปในสี่ทิศ และไม่โกรธเคือง ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ เป็นผู้อดทนต่อมวลอันตรายได้ ไม่หวาดเสียว เที่ยวไปผู้เดียวเช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“แม้บรรพชิตบางพวก และพวกคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน สงเคราะห์ได้ยาก ท่านเป็นผู้มีความขวนขวายน้อยในบุตรคนอื่น จึงเที่ยว
ไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“ท่านปลงเครื่องปรากฏ (ละเพศ) คฤหัสถ์ กล้าหาญ ตัดกามอันเป็นเครื่องผูกของคฤหัสถ์ เปรียบเหมือนไม้ทองหลางมีใบขาดหมด เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“ถ้าจะพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน ประพฤติเช่นเดียวกัน อยู่ด้วยกรรมดีเป็นนักปราชญ์ พึงครอบงำอันตรายทั้งสิ้นเสียแล้ว พึงดีใจ มีสติเที่ยวไปกับสหายนั้น”

“ถ้าจะไม่ได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน ประพฤติเช่นเดียวกัน
อยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนพระราชาทรงละแว่นแคว้นที่ทรงชนะแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว ดังช้างมาตังคะ ละโขลงอยู่ในป่า”

“ความจริง เราย่อมสรรเสริญสหายสมบัติ พึงส้องเสพสหายที่
ประเสริฐกว่า หรือที่เสมอกัน (เท่านั้น) เมื่อไม่ได้สหายเหล่านี้ ก็พึงคบหากับกรรมอันไม่มีโทษ เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“ท่านเห็นกำไลมือทองคำอันผุดผ่องที่นายช่างทองทำสำเร็จสวยงาม กระทบกันอยู่ที่แขนทั้งสอง จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“ท่านเล็งเห็นภัยนี้ต่อไป ความจัญไร หัวฝี อุบาทว์ โรค กิเลสดุจลูกศร จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“ก็กามทั้งหลายอัน วิจิตร หวาน อร่อย เป็นที่รื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิตด้วยสภาพต่างๆ ท่านเห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“ท่านเห็นภัยนี้ในกามคุณทั้งหลาย จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“ท่านครอบงำอันตรายแม้ทั้งหมดนี้ คือ หนาว ร้อน ความหิว ความกระหายลม แดด เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลาน แล้วเที่ยวไปผู้เดียว เช่น กับนอแรด ฉะนั้น”

“ท่านเที่ยวไปผู้เดียว เช่นนอแรด เปรียบเหมือนช้างละโขลงไว้แล้ว มีขันธ์เกิดพร้อมแล้ว มีสีกายดังดอกปทุมใหญ่โตอยู่ในป่านานเท่าที่ต้องการ ฉะนั้น”

“บุคคลพึงถูกต้องวิมุติอันเกิดเองนี้ มิใช่ฐานะของผู้ทำความคลุกคลีด้วยหมู่ จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“ท่านเป็นไปเพื่อล่วงทิฏฐิอันเป็นข้าศึก ถึงความแน่นอน มีมรรคอันได้แล้ว เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลอื่นไม่ต้องแนะนำ เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“ท่านไม่มีความโลภ ไม่โกง ไม่กระหาย ไม่ลบหลู่คุณท่าน ไม่โมโห เป็นผู้ไม่มีตัณหาในโลก ทั้งปวง เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“กุลบุตรพึงเว้นสหายผู้ลามก ผู้มักชี้อนัตถะ ตั้งมั่นอยู่ในฐานะผิดธรรมดา ไม่พึงเสพสหาย ผู้ขวนขวาย ผู้ประมาทด้วยตน พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“กุลบุตรพึงคบมิตรผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม มีคุณยิ่ง มีปฏิภาณ ท่านรู้ประโยชน์ทั้งหลาย บรรเทาความสงสัยแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด”ฉะนั้น

“ท่านไม่พอใจในการเล่น ความยินดี และกามสุขในโลกไม่เพ็งเล็งอยู่ คลายยินดีจากฐานะที่ตกแต่ง มีปกติกล่าวคำสัตย์ เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“ท่านละบุตร ภริยา บิดา มารดา ทรัพย์ ข้าวเปลือก เผ่าพันธ์ และกามทั้งหลายตามที่ตั้งลง เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“ในความเกี่ยวข้องนี้มีความสุขนิดหน่อย มีความพอใจน้อย มีทุกข์มากยิ่ง บุรุษผู้มีความรู้ทราบว่า ความเกี่ยวข้องนี้ ดุจลูก
ธนู พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“กุลบุตรพึงทำลายสังโยชน์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนปลาทำลายข่าย แล้วไม่กลับมา ดังไฟไหม้เชื้อลามไปแล้วไม่กลับมา พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“พึงทอดจักษุลง ไม่คะนองเท้า มีอินทรีย์อันคุ้มครองแล้ว รักษามนัส อันราคะไม่ชุ่มแล้ว อันไฟกิเลสไม่เผาลน พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“พึงละเครื่องเพศคฤหัสถ์แล้ว ถึงความตัดถอน เหมือนไม้ทอง
กวาวที่มีใบขาดแล้ว นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชแล้ว เที่ยวไปผู้เดียวเช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“ไม่พึงทำความกำหนัดในรส ไม่โลเล ไม่ต้อง เลี้ยงผู้อื่น เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก มีจิตไม่ข้องเกี่ยวในสกุลเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“พึงละนิวรณ์เครื่องกั้นจิต ๕ ประการ พึงบรรเทาอุปกิเลสเสียทั้งสิ้น ไม่อาศัยตัณหาและทิฏฐิ ตัดโทษอันเกิดแต่สิเนหาแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“พึงทำสุขทุกข์ โทมนัสและโสมนัสก่อนๆ ไว้เบื้องหลัง ได้อุเบกขา สมถะความหมดจดแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“พึงปรารภความเพียรเพื่อบรรลุนิพพาน มีจิตไม่หดหู่ ไม่ประพฤติเกียจคร้าน มีความเพียรมั่น (ก้าวออก) เข้าถึงด้วยกำลัง เรี่ยวแรง เที่ยวไปผู้เดียวเช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“ไม่พึงละการหลีกเร้นและฌาน มีปกติประพฤติ ธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิตย์ พิจารณาเห็นโทษในภพทั้งหลาย เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“พึงปรารถนาความสิ้นตัณหา ไม่ประมาท เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม มีการสดับ มีสติ มีธรรมอันพิจารณาแล้ว เป็นผู้เที่ยง มีความเพียร เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“ไม่พึงสะดุ้งในเพราะเสียง ดังสีหะ ไม่ขัดข้อง อยู่ในตัณหาและทิฏฐิเหมือนลมไม่ติดตาข่าย ไม่ติดอยู่ในโลก ดุจดอกปทุม ไม่ติดน้ำ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“พึงเสพเสนาสนะอันสงัดเหมือนราชสีห์มีเขี้ยวเป็นกำลัง เป็นราชาของเนื้อ มีปกติประพฤติข่มขี่ครอบงำ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“พึงเจริญเมตตาวิมุติ กรุณาวิมุติ มุทิตาวิมุติ และอุเบกขาวิมุติทุกเวลา ไม่พิโรธด้วยสัตว์โลกทั้งปวง เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“พึงละราคะโทสะและโมหะ พึงทำลายสังโยชน์ทั้งหลายเสีย ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“ชนทั้งหลายมีเหตุ เป็นประโยชน์ จึงคบหาสมาคมกัน มิตรทั้งหลายไม่มีเหตุ หาได้ยากในวันนี้ มนุษย์ทั้งหลายมีปัญญามองประโยชน์ตน ไม่สะอาด พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น”

“พึงมีศีลบริสุทธิ์ มีปัญญาหมดจดดีมีจิตตั้งมั่น ประกอบความเพียร เจริญวิปัสสนา มีปกติเห็นธรรมวิเศษ พึงรู้แจ้งธรรมอันสัมปยุตด้วยองค์มรรคและโพชฌงค์ (พึงรู้แจ้งองค์มรรคและโพชฌงค์) นักปราชญ์เหล่าใดเจริญสุญญตวิโมกข์ อนิมิตต
วิโมกข์ และอัปปณิหิตวิโมกข์ ไม่บรรลุความเป็นพระสาวกในศาสนาพระชินเจ้า นักปราชญ์เหล่านั้นย่อมเป็นพระสยัมภูปัจเจกพุทธเจ้า มีธรรมใหญ่ มีธรรมกายมาก มีจิตเป็นอิสระ ข้ามห้วงทุกข์ ทั้งมวลได้ มีจิตโสมนัส มีปกติเห็นประโยชน์อย่างยิ่ง เปรียบดังราชสีห์ เช่นกับนอแรด”

“พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้ มีอินทรีย์ระงับ มีใจสงบ มีจิตมั่นคง มีปกติประพฤติด้วยความกรุณาในสัตว์เหล่าอื่น เกื้อกูลแก่สัตว์ รุ่งเรืองในโลกนี้และโลกหน้า เช่นกับประทีป ปฏิบัติเป็นประโยชน์แก่สัตว์ พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้ ละกิเลสเครื่องกั้นทั้งปวงหมดแล้ว เป็นจอมแห่งชนเป็นประทีปส่องโลกให้สว่าง เช่นกับรัศมีแห่งทองชมพูนุท เป็นทักขิไณยบุคคลชั้นดีของโลก โดยไม่ต้องสงสัย บริบูรณ์อยู่เนืองนิตย์”

“คำสุภาษิตของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเป็นไปในโลกทั้งเทวโลก ชนเหล่าใดผู้เป็นพาลได้ฟังแล้ว ไม่ทำเหมือนดังนั้น ชนเหล่านั้นต้องเที่ยวไปในสังขารทุกข์บ่อยๆ”

“คำสุภาษิตของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นคำไพเราะ ดังน้ำผึ้งรวงอันหลั่งออกอยู่ ชนเหล่าใดได้ฟังแล้ว ประกอบการปฏิบัติตามนั้น ชนเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้มีปัญญา เห็นสัจจะ คาถาอันโอฬารอันพระปัจเจกพุทธชินเจ้าออกบวชกล่าวแล้ว คาถาเหล่านั้นพระตถาคตผู้สีหวงศ์ศากยราชผู้สูงสุดกว่านรชน ทรงประกาศแล้ว เพื่อให้รู้แจ้งธรรม คาถาเหล่านี้ พระปัจเจกเจ้าเหล่านั้นรจนาไว้อย่างวิเศษ เพื่อความอนุเคราะห์โลก อันพระสยัมภูผู้สีหะทรงประกาศแล้ว เพื่อยังความสังเวช การไม่คลุกคลีและปัญญาให้เจริญ ฉะนี้แล”

ข้อความนี้ถูกเขียนใน #พระพุทธเจ้า#, ธรรมะและศาสนา คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น