ก่อนเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ตอนที่ 3 : เรื่องของกัป

คำว่ากัป หมายถึงช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งมีหลายประเภทเช่น

– อายุกัป หมายถึง ช่วงระยะเวลาสำหรับอายุขัยของมนุษย์ (ในยุคพุทธกาล 1 อายุกัปของมนุษย์ ประมาณ 100 ปี)
– มหากัป หมายถึง ช่วงระยะเวลาของเอกภพ (Universe)

แต่คำว่ากัปที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้จะหมายถึง มหากัป เท่านั้น

องค์ประกอบของเอกภพตามหลักพระพุทธศาสนา

เป็นที่น่าทึ่งในพระปัญญาของพระพุทธเจ้าอย่างมากที่ท่านได้ตรัสลักษณะเกี่ยวกับเอกภพเอาไว้เมื่อกว่า 2500 ปีก่อนมาแล้ว โดยมีรายละเอียดคล้ายสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบันพึ่งจะมาค้นพบ  ดังปรากฎใน จูฬนีสูตร [1] (อรรถกถาเรียก อรุณวดีสูตร)  ซึ่งสรุปได้ว่า โลกประกอบด้วยโลกธาตุต่างๆ มากมายแบ่งเป็น 3 ระดับดังนี้

1. โลกธาตุขนาดเล็ก คือโลกธาตุที่มีขนาด 1,000 จักรวาล
2. โลกธาตุขนาดกลาง คือ โลกธาตุที่มีขนาด 1,000,000 จักรวาล
3. โลกธาตุขนาดใหญ่ คือ โลกธาตุที่มีขนาด แสนโกฎิจักรวาล (ล้านล้านจักรวาล)

และนิยามของจักรวาลในพระสูตรนี้ ก็คือ บริเวณที่พระจันทร์และพระอาทิตย์สามารถโคจรไปได้ทั่วทิศสว่างไสวรุ่งโรจน์

จากความรู้ทางดาราศาสตร์เราทราบว่าดาวอาทิตย์ซึ่งเป็นดาวฤกษ์หนึ่งที่โคจรอยู่รอบๆ ดาราจักรหรือแกแลกซี่ (galaxy) ที่ชื่อว่า “ทางช้างเผือก (Milky way)” และนอกจากแกแลกซี่ชื่อว่า “ทางช้างเผือก” แล้วในเอกภพยังมีแกแลกซี่อื่นๆอีกมากมายนับไม่ถ้วน

เมื่อเทียบเคียงกับความหมายในพระสูตรกับความรู้วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันทำให้สรุปได้ว่า
จักรวาลในพระสูตร เทียบได้กับ ดาราจักรหรือแกแลกซี่นั่นเอง และ
โลกธาตุ ในพระสูตร เทียบได้กับ กลุ่มของแกแลกซี่ นั่นเอง และ
โลก ในพระสูตร เทียบได้กับ  เอกภพ (Universe) ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มของแกแลกซี่มากมาย

(ดูหมายเหตุเพิ่มเติมด้านล่าง)

ความหมายของกัป

ระยะเวลากัปหนึ่งนั้น หมายถึง ระยะเวลาที่โลก เอกภพ (Universe) อุบัติขึ้นมา  จนกระทั่งเอกภพนั้นดับไป

ช่วงเวลาในกัป

ในพระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต จตุตถปัณณาสก์อินทรียวรรคที่ ๑ [2]

 พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับช่วงเวลาในระหว่าง 1 กัปไว้ว่า

 [๑๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสงไขยแห่งกัป ๔ ประการนี้ ๔ ประการ
เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด สังวัฏกัปตั้งอยู่ เมื่อนั้น ใครๆ ก็ไม่อาจ
นับได้ว่า เท่านี้ปี เท่านี้ร้อยปี เท่านี้พันปี หรือเท่านี้แสนปี ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย เมื่อใด สังวัฏฏัฏฐายีกัปตั้งอยู่ เมื่อนั้น ใครๆ ก็ไม่อาจนับได้ว่า
เท่านี้ปี เท่านี้ร้อยปี เท่านี้พันปี หรือเท่านี้แสนปี ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เมื่อใด วิวัฏกัปตั้งอยู่ เมื่อนั้น ใครๆ ไม่อาจนับได้ว่า เท่านี้ปี เท่านี้ร้อยปี
เท่านี้พันปี หรือเท่านี้แสนปี ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด วิวัฏฏัฏฐายีกัปตั้งอยู่
เมื่อนั้น ใครๆ ไม่อาจนับได้ว่า เท่านี้ปี เท่านี้ร้อยปี เท่านี้พันปี หรือเท่านี้
แสนปี ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสงไขยแห่งกัป ๔ ประการนี้แล ฯ

ซึ่งหมายความว่า 1 กัปสามารถแบ่งเป็น 4 ช่วงเวลา และแต่ละช่วงนั้นก็ยาวนานมากจนนับได้ยาก (คำว่า “อสงไขย” ในที่นี้หมายถึง infinity คือมากจนนับไม่ถ้วน) โดย 4 ช่วงเวลานั้นได้แก่

1.  วิวัฏกัป หรือ ช่วงที่กัปกำลังเจริญ หมายถึง ช่วงเวลาที่เอกภพก่อตัว และเจริญขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาปัจจุบันที่เราอาศัยอยู่ในขณะนี้ โดยจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่า เอกภพที่เราอยู่นี้ เกิดมาเมื่อประมาณ 14,000 ล้านปีที่แล้วจากการระเบิดครั้งใหญ่หรือ Big Bang ของอะไรบางอย่างที่มีขนาดเล็กมากๆ ที่เรียกว่า singularity และขณะนี้เอกภพก็กำลังขยายตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง

2.วิวัฏฏัฏฐายี หรือ ช่วงที่กัปเจริญแล้วกำลังตั้งอยู่   หมายถึง ช่วงเวลาหลังจากที่เอกภพขยายตัวจนถึงขีดสุดและเริ่มคงตัวตั้งอยู่อย่างนั้นไประยะหนึ่ง

3.  สังวัฏฏกัป  หรือ ช่วงที่กัปกำลังเสื่อม  หมายถึง ช่วงเวลาที่เอกภพอยู่ในภาวะที่กำลังเสื่อมสลาย ซึ่งในอรรถกถา [3,4] กล่าวว่า เสื่อมได้จาก 3 สาเหตุคือ เสื่อมเพราะไฟ , เสื่อมเพราะน้ำ , และเสื่อมเพราะลม

4. สังวัฏฏัฏฐายีกัป  หรือ ช่วงที่กัปเสื่อมแล้วตั้งอยู่ หมายถึง ช่วงเวลาที่เอกภพเสื่อมสลายแล้ว รอเกิดเป็นเอกภพใหม่ ในระหว่างนี้เอกภพจะเป็นอะไรบางอย่างที่มีขนาดเล็กมากๆ ถ้าเทียบในทางวิทยาศาสตร์ก็เรียกได้ว่า เอกภพอยู่ในสภาพที่เรียกว่า singularity ซึ่งรอที่จะเริ่มเกิดเป็นเอกภพใหม่ ในระหว่างนี้สัตว์ที่ได้ฌานก็จะเกิดเป็นในพรหมโลก ส่วนสัตว์อื่นๆเช่น สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เปรด ก็จะตายหมดและ อยู่ในสภาพที่เป็นพลังงานเพื่อรอเกิดใหม่อีกครั้งหลังจากที่เริ่มมีเอกภพขึ้นมาใหม่ ในข้อ 1 อีกครั้ง

นี่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เมื่อเกือบ 2600 ปีมาแล้ว แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พึ่งจะมาค้นพบ ดังรายละเอียดใน วารสาร Science Illustrated ฉบับเดือน July/August ปี 2012


รูปที่ 1

ซึ่งเนื้อหากล่าวว่า มีบางสิ่งที่ดำรงอยู่ก่อนหน้า The Big Bang หรือการระเบิดครั้งใหญ่ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการถือกำเนิดของเอกภพ (Universe) ที่เรารู้จักในปัจจุบัน ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ Earlier Universe หรือ เอกภพอันก่อน นั่นเอง !!!

แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้กล่าวถึงมากนักคือช่วงรอยต่อระหว่าง เอกภพปัจจุบันกับเอกภพอันก่อนก็คือ “ภาวะที่ยังไม่มีเอกภพ” หรือช่วงที่เป็น Singularity  (ไม่รู้จะใช้ภาษาไทยว่าอะไรดี) นั่นเอง และสิ่งนี้เองที่ดำรงอยู่ก่อนหน้า The Big Bang จริงๆ โดยคั่นอยู่ระหว่าง เอกภพปัจจุบัน (Present Universe) กับ  เอกภพอันก่อน (Earlier Universe) ซึ่งภาวะ  Singularity นี้ มวลสารและพลังงานทั้งหมดของเอกภพแปรสภาพมารวมกันเป็นจุดซึ่งมีขนาดเล็กมาก ช่วงเวลาที่เป็น Singularity นี้ดำรงอยู่หลังจากที่เอกภพอันก่อนดับไป และดำรงอยู่ก่อนหน้าที่เอกภพปัจจุบันจะเกิดขึ้นมา เมื่อเทียบกับที่พระพุทธเจ้าตรัสก็จะตรงกับคำว่า “สังวัฏฏัฏฐายีกัป” นั่นเอง ดังรายละเอียดสรุปในรูปที่ 2

รูปที่ 2

และเอกภพก็มีลักษณะเช่นนี้ซ้ำๆ กันไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด คือ เมื่อเอกภพเกิดขึ้นมาแล้วก็จะขยายตัวระดับนึงและคงที่และหดตัวลงจนกระทั่งดับไปเป็นจุดเล็กๆ ที่เรียกว่า Singularity แล้วเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ก็จะระเบิดขึ้นมาเป็นเอกภพใหม่ เช่นนี้เรื่อยๆไม่ที่ที่สิ้นสุด ดังรายละเอียดในรูปที่ 1 ซึ่งช่วงอายุขัยของเอกภพนี้เรียกว่า “มหากัป”

นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสรายละเอียดเกี่ยวกับช่วงเวลาต่างๆในกัป  ดังรายละเอียดใน “อัคคัญญสูตร” [5] สรุปได้ดังนี้

“ในช่วงที่กัป (ความหมายเดียวกับคำว่าเอกภพ) กำลังเสื่อมและเสื่อมสลายแล้วนั้น  โดยมากเหล่าสัตว์ย่อมเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม สัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหารมีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน” และ

“ในช่วงที่กัปกำลังเจริญ เหล่าสัตว์พากันจฺติ (เคลื่อนออก) จากชั้นอาภัสสรพรหมลงมาเป็นอย่างนี้ และสัตว์นั้นได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน ก็แหละสมัยนั้นจักรวาลทั้งสิ้นนี้แลเป็นน้ำทั้งนั้น มืดมนแลไม่เห็นอะไร ดวงจันทร์และ ดวงอาทิตย์ก็ยังไม่ปรากฏ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ยังไม่ปรากฏ กลางวันกลางคืนก็ยังไม่ปรากฏ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ยังไม่ปรากฏ ฤดูและปีก็ยังไม่ปรากฏเพศชายและเพศหญิงก็ยังไม่ปรากฏ สัตว์ทั้งหลาย ถึงซึ่งอันนับเพียงว่าสัตว์เท่านั้น ครั้นต่อมา โดยล่วงระยะกาลยืดยาวช้านาน เกิดง้วนดินลอยอยู่บนน้ำทั่วไป ได้ปรากฏแก่สัตว์เหล่านั้นเหมือนนมสดที่บุคคลเคี่ยว ให้งวด แล้วตั้งไว้ให้เย็นจับเป็นฝาอยู่ข้างบน ฉะนั้นง้วนดินนั้นถึงพร้อมด้วยสีกลิ่น รส มีสีคล้ายเนยใส หรือเนยข้นอย่างดี ฉะนั้น มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็กอันหาโทษมิได้ ฉะนั้น ฯ ”

การแบ่งกัปตามจำนวนการอุบัติของพระพุทธเจ้า

แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆคือ

  1. สุญญกัป คือ กัปที่ว่างจากพระพุทธเจ้า แต่อาจมี พระปัจเจกพุทธเจ้า และ พระเจ้าจักรพรรดิ ได้
  2. อสุญญกัป คือ กัปที่ไม่ว่างจากผู้มีบุญโดยเฉพาะพระพุทธเจ้า แบ่งเป็น 5 ประเภทย่อยคือ
    1. สารกัป คือกัปที่เป็นแก่นสาร มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 1 พระองค์
    2. มัณฑกัป คือ กัปที่ผ่องใส มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 2 พระองค์
    3. วรกัป คือ กัปที่ประเสริฐ มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 3 พระองค์
    4. สารมัณฑกัป คือกัปที่เป็นแก่นสารและผ่องใส มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 4 พระองค์
    5. ภัทรกัป คือกัปที่เจริญ มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 5 พระองค์. กัปปัจจุบันเป็นภัทรกัปมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ได้แก่ พระกกุสันธะพระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตมพุทธเจ้า พระศรีอริยเมตไตรย

การประมาณความยาวนานของกัป

พระพุทธเจ้าได้ตรัสประมาณเกี่ยวกับความยาวนานของกัปไว้ดังนี้

1. ปัพพตสูตร (สังยุตนิกาย นิทานวรรค ข้อ ๓๑๔ หน้า ๒๑๖ บาลีฉบับสยามรัฐ)

Cquote1.svg

ดูกรภิกษุ! กัปหนึ่งนั้น เป็นเวลายาวนานนักหนา จะนับเป็นว่า เท่านี้ปี เท่านี้ร้อยปี เท่านี้พันปี เท่านี้แสนปี ดังนี้ไม่ได้เลย

ดูกรภิกษุ! เราตถาคตจะยกอุปมาให้เธอฟัง เหมือนอย่างว่า ภูเขาศิลาลูกใหญ่ ยาว ๑ โยชน์ กว้าง ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบ ยังมีบุรุษผู้หนึ่งนำเราผ้าขาวบางเยื่อไม้มาแต่แคว้นกาสี แล้วเอาผ้านั้นปัดถูภูเขา ๑๐๐ ปีต่อครั้งหนึ่งดังนี้ การที่ภูเขาศิลาใหญ่นั้น จะพึงถึงความหมดไป สิ้นไป เพราะความพยายามของบุรุษนั้นยังเร็วกว่า แต่เวลาที่เรียกว่า กัปหนึ่ง นั้น ยังไม่ถึงความหมดไป สิ้นไปเลย@  กัปหนึ่งนั้น นานอย่างนี้ ก็บรรดากัปที่นานอย่างนี้แหละ พวกเธอท่องเที่ยวไปมาอยู่ในวัฏสงสาร มิใช่ ๑ กัป มิใช่ ๑๐๐ กัป มิใช่ ๑๐๐๐ กัป มิใช่ ๑๐๐,๐๐๐ กัป ข้อนี้ เป็นเพราะเหตุใด? เพราะว่า วัฏสงสารนี้ กำหนดที่สุดและเบื้องต้นมิได้ ในเมื่อเหล่าสัตว์ทั้งหลายถูกอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ถูกตัณหาผูกพันเขาไว้ ก็ย่อมจะต้องท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ โดยที่สุดและเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏเลย

Cquote2.svg

2. สาสปสูตร (สังยุตนิกาย นิทานวรรค ข้อ ๔๑๓ หน้า ๒๑๖ บาลีฉบับสยามรัฐ)

Cquote1.svg

ดูกรภิกษุ! เราตถาคตจะยกอุปมาให้เธอฟัง เหมือนอย่างว่า พระนครที่ทำด้วยเหล็ก มีความยาว ๑ โยชน์ กว้าง ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ ซึ่งเป็นพระนครที่เต็มไปด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาด มีเมล็ดพันธุ์ผักกาดรวมกันเป็นกลุ่มก้อน ยังมีบุรุษผู้หนึ่งพึงหยิบเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดเมล็ดหนึ่งๆ ออกจากพระนครนั้น โดยกาลล่วงไป ๑๐๐ ปี ต่อเมล็ดหนึ่ง การที่เมล็ดพันธุ์ผักกาดกองใหญ่นั้น จะพึงถึงความหมดไป สิ้นไป เพราะความพยายามของบุรุษนั้นยังเร็วกว่า แต่เวลาที่เรียกว่า กัปหนึ่ง นั้น ยังไม่ถึงความหมดไป สิ้นไปเลย@ กัปหนึ่งนั้น นานอย่างนี้ ก็บรรดากัปที่นานอย่างนี้แหละ พวกเธอท่องเที่ยวไปมาอยู่ในวัฏสงสาร มิใช่ ๑ กัป มิใช่ ๑๐๐ กัป มิใช่ ๑๐๐๐ กัป มิใช่ ๑๐๐,๐๐๐ กัป ข้อนี้ เป็นเพราะเหตุใด? เพราะว่า วัฏสงสารนี้ กำหนดที่สุดและเบื้องต้นมิได้ ในเมื่อเหล่าสัตว์ทั้งหลายถูกอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ถูกตัณหาผูกพันเขาไว้ ก็ย่อมจะต้องท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ โดยที่สุดและเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏเลย

Cquote2.svg

@เนื่องจากการบอกเล่าต่อๆกันไปทำให้เกิดความเข้าใจผิดเพี้ยนเกี่ยวกับ “ความยาวนานของกัป” ว่า 100 ปีเอาเมล็ดผักกาด 1 เมล็ดในกล่องกว้าง,ยาว,สูงอย่างละ 1 โยชน์ จนเต็มถือว่าเป็น 1 กัป บ้าง หรือ 100 ปีเอาผ้าบางมาลูบภูเขาทึบตันกว้าง,ยาว,สูงอย่างละ 1 โยชน์จนภูเขาแบนราบสนิทถือว่าเป็น 1 กัป บ้าง อันนี้เป็นความเข้าใจที่ผิดเพราะดูจากหลักฐานดั้งเดิมคือพระไตรปิฏกสรุปได้ว่าการกระทำดังกล่าวข้างต้นยังไม่ถึง 1 กัปเลยและ 1 กัปยาวนานมากจนไม่อาจคำนวณเป็นตัวเลขอย่างชัดเจนได้

การคำนวณความยาวนานของกัป

ผู้เขียนคำนวณโดยสรุปจากแนวคิดที่ คุณ P_Vicha ได้ทำไว้ ใน เวบไซต์ http://www.vichadham.com/kup.html ดังนี้

—————————

สมมุติว่าว่า นำเมล็ดผักกาดที่มีขนาด กว้าง, ยาว และสูง อย่างละ 0.5 มิลลิเมตร (mm) ใส่ลงในกล่องใบหนึ่ง กว้าง 1 โยชน์ ยาว 1 โยชน์ สูง 1 โยชน์ ทุกๆ 100 ปี  ทำอย่างนี้จนเมล็ดผักกาดนั้นเต็มเสมอเรียบปากกล่อง (การกระทำนี้เทียบได้กับการนำเมล็ดผักกาดที่เต็มกล่องออกจากกล่องทั้งหมด) ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าทำเช่นนี้แล้วยังไม่สิ้น 1 กัป เลย 

แต่ 1 โยชน์เท่ากับ 16 กิโลเมตร (km) = 16,000 เมตร (m) = 16,000,000 มิลลิเมตร (mm)

ดังนั้น กล่องนี้มีปริมาตร = 16,000,000 × 16,000,000 × 16,000,000 = 4.096 × 1021  ลูกบาศก์มิลลิเมตร (mm3)

และเมล็ดผักกาดจะมีปริมาตร = 0.5×0.5×0.5 = 0.125 ลูกบาศก์มิลลิเมตร (mm3)

ดังนั้นจะต้องใช้ จำนวนเมล็ดผักกาดทั้งหมดเท่ากับ (4.096 × 1021 ) หารด้วย 0.125 ซึ่งจะได้ 3.2768 × 1022  เมล็ด

และแต่ละเมล็ดใช้เวลา 100 ปีในการใส่ ดังนั้น จะต้องใช้เวลาทั้งหมด เท่ากับ  3.2768 × 1022  ×  100 ปี = 3.2768 x 1024  ปี (3.2768  ล้านล้านล้านล้าน ปี)

————————–

จึงสรุปได้เวลา 1 กัป เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3.2768 x 1024  ปี

อายุของโลกตามหลักธรณีวิทยา โลกเกิดมาแล้วประมาณ 4.6 × 109  ปี (สี่พันหกร้อยล้านปี) แสดงว่าตั้งแต่โลกก่อตัวจากกลุ่มก๊าซ ผ่านยุคต่างๆมา อายุยังไม่ถึงเสี้ยวนึงของกัปเลย ยังอีกยาวนานมาก

อายุของจักรวาลตามหลักดาราศาสตร์ จักรวาลเกิดมาแล้วประมาณ 1.4 × 1010 ปี (หนึ่งหมื่นสี่พันล้านปี) หรือ นานกว่าโลกประมาณ 10 เท่า แสดงว่า อายุจักรวาลในปัจจุบันยังไม่ถึง 1 ใน 10 หรือ 10% ของอายุกัปเลย

ลองคิดดูว่าแม้ในกัปนึงยังยาวนานขนาดนี้ เรายังเกิดๆและตายๆใน 1 กัปนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งใน 1 ชีวิตที่เราเกิดตายนั้นยังประสบกับความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก การเจ็บป่วย ฯลฯ หลายครั้ง แล้ว ยิ่งใน 1 กัปนี้ยังเกิดตายอีกตั้งหลายครั้ง และในอดีตที่ผ่านมาไม่ได้มีแค่กัปเดียวลองคิดดูว่าจะทุกข์แค่ไหน ทางออกจากทุกข์คือหยุดการเวียนว่ายตายเกิดโดยปฏิบัติธรรมให้บรรลุถึงอรหัตตผล จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

จำนวนกัปที่ผ่านมาแล้ว

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่าที่ผ่านมาในอดีตมีกัปที่ล่วงไปแล้วมากมายนับไม่ถ้วนดังนี้

1. สาวกสูตร (สังยุตนิกาย นิทานวรรค ข้อ ๔๓๓ หน้า ๒๑๗ บาลีฉบับสยามรัฐ)

อีกคราวหนึ่ง ได้มีพระภิกษุหลายรูปด้วยกัน ได้พากัน เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลถามเรื่องกัปที่ล่วงไปแล้วว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! บรรดากัปทั้งหลายที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว มีมากเท่าใดหนอ พระเจ้าข้า”

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสตอบว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย! เราตถาคตจะยกอุปมาให้พวกเธอฟัง ยังมีพระพุทธสาวก ๔ รูปในพระศาสนานี้ เป็นผู้มีอายุยืน ๑๐๐ ปี มีชีวิตอยู่ได้ ๑๐๐ ปี หากว่าพระสาวกทั้ง ๔ รูปเหล่านั้น สามารถระลึก ถอยหลังไปได้วันละ ๑๐๐,๐๐๐ กัป และกัปที่พระสาวกเหล่านั้นระลึกไม่ถึงพึงยังมีอยู่อีก พระสาวก ๔ รูปของเราผู้มีอายุยืน ๑๐๐ ปี มีชีวิตอยู่ได้ ๑๐๐ ปี พึงทำกาละโดยล่วงไป ๑๐๐ ปีเสียก่อน โดยแท้เลย@ กัปที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว มีจำนวนมากมาย อย่างนี้แหละ ฉะนั้น จึงมิใช่เป็นการกระทำที่ง่าย ในการที่จะนับจำนวนกัปว่า เท่านี้ร้อยกัป เท่านี้พันกัป เท่านี้แสนกัป ข้อนี้ เป็นเพราะเหตุดังฤๅ? เพราะว่า วัฏสงสาร กำหนดที่สุดและเบื้องต้นมิได้ ในเมื่อเหล่าสัตว์ทั้งหลายถูกอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ถูกตัณหาผูกพันเข้าไว้ ก็ย่อมจะต้องท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่โดยที่สุดและเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏเลย”

@จากพระสูตรนี้คำนวณได้ว่าพระ 4 องค์ จะระลึกจำนวนกัปที่ผ่านมารวมกันได้แค่ 14,600 ล้านกัป (1.46 × 1010 กัป) ตลอดร้อยปี ในขณะที่เวลาที่พูดถึงจำนวนกัปที่พระโคดมพุทธเจ้าครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ได้รับพยากรณ์ว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าจนกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้านั้นกินเวลายาวนานถึง 4 อสงไขยกับแสนกัป (4 × 10140 กัป + 100,000 กัป) นับว่า 14,600 ล้านกัป น้อยมากๆ ไม่ถึง 1 ใน 10 ของเวลาที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมีหลังจากได้รับพยากรณ์ครั้งแรกจากพระพุทธเจ้าองค์ที่ 24 ก่อนนี้ (พระทีปังกรพุทธเจ้า)

2. คงคาสูตร (สังยุตนิกาย นิทานวรรค ข้อ ๔๓๕ หน้า ๒๑๗ บาลีฉบับสยามรัฐ)

กาลต่อมาอีกคราวหนึ่ง ขณะที่องค์สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ได้มีพราหมณ์ผู้หนึ่ง เข้าไปเฝ้าและกราบทูลถามปัญหาเรื่องกัปที่ผ่านไปแล้ว อีกเช่นกัน แลในวันนั้น สมเด็จพระพุทธองค์ ได้ทรงมีพระพุทธฎีกาตอบแก่เขาว่า “ดูกรพราหมณ์! เราตถาคตจะยกอุปมาให้ท่านฟัง เหมือนอย่างว่า แม่น้ำคงคานี้ ย่อมเกิดแต่ที่ใด และย่อมถึงมหาสมุทร ณ ที่ใด เม็ดทรายในระยะนี้ ย่อมไม่เป็นของไม่ง่ายนัก ที่จะกำหนดนับได้ เท่านี้เม็ด เท่านี้ร้อยเม็ด เท่านี้พันเม็ด เท่านี้แสนเม็ด ดูกรพราหมณ์! กัปทั้งหลายที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว มากกว่าเม็ดทรายเหล่านั้น จึงมิใช่เป็นการง่ายนัก ที่จะกำหนดนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ร้อยกัป เท่านี้พันกัป เท่านี้แสนกัป ข้อนี้ เป็นเพราะเหตุดังฤๅ? เพราะว่า วัฏสงสารนี้ กำหนดที่สุดและเบื้องต้นมิได้ ในเมื่อเหล่าสัตว์ทั้งหลายถูกอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ถูกตัณหาผูกพันเข้าไว้ ก็ย่อมจะต้องท่องเที่ยวไปมาอยู่ โดยที่สุดและเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ สัตว์ทั้งหลาย ที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารนั้น ได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้า ตลอดกาลนาน พอทีเดียวเพื่อจะคลายความกำหนัด พอทีเดียวเพื่อจะหลุดพ้นได้ ใช่ไหมเล่า”

อ้างอิง

[1] จูฬนีสูตร
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=5985&Z=6056

[2] องฺ. จตุกก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๑๕๖ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?book=21&item=156#156
[3] อรรถกถาบุพเพนิวาสานุสติญาณนิทเทส  http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=31&i=256

[4] อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ ๑. อินทรียวรรค
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=151 

[5] อัคคัญญสูตร
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=11&A=1703&Z=2129

หมายเหตุเพิ่มเติมสำหรับจุฬนีสูตร  ในพระสูตรยังบอกอีกว่า ในจักรวาล (แกแลกซี่) แต่ละจักรวาลก็จะมี โลกมนุษย์ มีสวรรค์ มีนรก เป็นเอกเทศประจำแต่ละจักรวาลด้วย  ซึ่งพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆชื่อ อภิภู มีฤทธิ์มากขนาดไปเทศน์บนพรหมโลก ให้สัตว์ทั่วโลกธาตุขนาดเล็กได้ยินเสียงได้ พระอานนท์ก็เลยถามพระพุทธเจ้าว่าก็ขนาดสาวกยังยิ่งใหญ่ขนาดนี้และพระพุทธเจ้าจะขนาดไหน พระพุทธเจ้าตอบว่า  โลกธาตุขนาดใหญ่ก็ได้ยินเสียงพระพุทธเจ้าได้ถ้าต้องการ พระอุทายีถามต่อว่า แล้วมีประโยชน์อะไรสำหรับข้อมูลเหล่านี้ พระพุทธเจ้าตอบว่า ถ้าใครฟังแล้วเลื่อมใสในพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้าว่ามีมากขนาดไหนก็จะทำให้มีสิทธิ์ไปสวรรค์ ไปเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ได้หลังตายไปแล้ว

ข้อความนี้ถูกเขียนใน #พระพุทธเจ้า#, ธรรมะและศาสนา คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

3 ตอบกลับที่ ก่อนเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ตอนที่ 3 : เรื่องของกัป

  1. Pingback: ก่อนเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ตอนที่ 3 : เรื่องของกัป | nanbbrave

  2. Jeeravat พูดว่า:

    พระพุทธเจ้ารู้ถึงการกำเนิดของเอกภพและนอกเอกภพชาวพุทธทั้งหลายควรจะศึกษาเรื่องราวของพระพุทธเจ้าให้ลึกซึ้ง ในหนังสือพระไตรปิฎก

  3. Pathavi พูดว่า:

    ได้เปิดหูเปิดตามากทีเดียวครับ ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของท่านผู้เขียนบทความ
    ขอเสนอความเห็นของอ.เสถียร โพธินันทะ ให้พิจารณา เกี่ยวกับเรื่องตัวเลขเช่น 500 , 1000 , 84000 นั้นท่านว่าในสมัยพุทธกาลมักใช้ในลักษณะเป็นสำนวน เอาความหมายว่ามาก ไม่ได้ใช้สื่อถึงจำนวนดังกล่าวตรงๆ ทำนองเดียวกับคำว่า อสงขัย ที่แปลว่ามากจนนับไม่ถ้วน เช่น เมื่อจะปลงพระสรีระพระพุทธเจ้า ท่านห่อด้วยผ้า 500 ก็เอาความว่าห่อด้วยผ้าจำนวนมากพอเหมาะแก่การนั้นๆ

ส่งความเห็นที่ Jeeravat ยกเลิกการตอบ