พระพุทธเจ้า ทำอะไรบ้างหลังจากตรัสรู้เสร็จแล้ว จนกระทั่งตัดสินใจแสดงธรรม

เรื่องนี้มีบันทึกไว้ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ และอรรถกถาดังรายละเอียดสรุปต่อไปนี้

สัปดาห์ที่ 1 

พระพุทธเจ้ายังคงนั่งสมาธิใต้ต้นโพธิต่อไปอีก 7 วันหลังจากตรัสรู้ เพื่อเสวยวิมุติสุขระหว่างนั้นก็พิจารณาปฏิจจสมุปบาทเวลาในช่วงหัวค่ำ

สัปดาห์ที่ 2

พระพุทธเจ้าออกจากสมาธิเดินจากต้นโพธิไปยังต้นไทรแล้วนั่งสมาธิต่ออีก 7 วันหลังจากนั้นมีพราหมณ์ที่ชอบตวาดคนผ่านมาพบ พราหมณ์ถามพระพุทธเจ้าว่า “อะไรที่ทำให้คนเป็นพราหมณ์” พระพุทธเจ้าตอบว่า “พราหมณ์คือผู้ที่ละเลิกการทำบาปกรรมแล้ว เป็นผู้ไม่ตวาดผู้อื่น มีความสำรวม ไม่มีกิเลสในใจ ไม่มีอารมณ์ใดๆที่สะเทือนถึงใจให้ใจหวั่นไหวได้ นี่จึงเรียกว่าเป็นพราหมณ์โดยแท้” พราหมณ์นั้นก็จากไป

สัปดาห์ที่ 3

พระพุทธเจ้าออกจากต้นไทร ไปนั่งสมาธิที่ต้นจิก (มุจจลินท์) เกิดฝนตกตลอด 7 วันแต่มีพญานาคราชมาแผ่พังพานกันลม กันฝน กัน แมลง ไม่ให้มารบกวนพระพุทธเจ้า

สัปดาห์ที่ 4

พระพุทธเจ้าออกจากต้นจิก (มุจจลินท์)   ไปนั่งสมาธิที่ต้นเกด (ราชายตนะ) ตลอด 7 วัน ระหว่างนั้นมีพ่อค้า 2 คนชื่อ ตปุสสะ และ ภัลลิกะ เข้ามาถวายสัตตุผง และ สัตตุก้อนแก่พระพุทธเจ้า เพราะมีเทวดาที่เคยเป็นญาติเก่ามากระซิบบอกบุญ ท้าวจาตุมหาราช แต่ละองค์นำบาตรหินมาองค์ละใบ พระพุทธเจ้าประสานรวมใช้บาตรรับ สัตตุผง และ สัตตุก้อน หลังจากนั้นพ่อค้าทั้ง 2 คนนี้ก็กล่าวขอถึงพระพุทธ และพระธรรมเป็นที่พึ่งทางใจตลอดชีวิต

ตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพระองค์พึงทำการอภิวาท
และยืนรับใครเล่า พระเจ้าข้า ? พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงลูบพระเศียร. พระเกศา
ติดพระหัตถ์ ได้ประทานพระเกศาเหล่านั้น แก่เขาทั้งสอง ด้วยตรัสว่าท่านจง
รักษาผมเหล่านี้ไว้. สองพานิชนั้น ได้พระเกศธาตุราวกะได้อภิเษกด้วย
อมตธรรม รื่นเริงยินดีถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วหลีกไป

หลังจากครบสัปดาห์ที่ 4

พระพุทธเจ้าออกจากต้นเกด  ไปที่ต้นไทร และเกิดท้อพระทัยในการสั่งสอนธรรมที่พระองค์ได้บรรลุแก่สัตว์โลก พระพรหมมาอาราธนาให้พระองค์สอนสัตว์โลกบางเหล่าที่พอสอนได้ พระองค์ก็พิจารณาเห็นว่าจริง และอุปมา สัตว์โลกดังดอกบัว 3 เหล่า (ดอกอุบลในกออุบล ดอกปทุมในกอปทุม หรือดอกบุณฑริกในกอบุณฑริก) อยู่ในน้ำ 3 ระดับ  (คือ ในน้ำ ปริ่มน้ำ และพ้นน้ำ) (ไม่ใช่บัว 4 เหล่าและไม่มีบัวใต้ตมในพระไตรปิฎก) จึงตัดสินใจที่จะแสดงธรรมต่อสัตว์โลกและตอบรับคำอาราธนาของพระพรหม

อย่างไรก็ตาม อรรถกถา ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ระหว่างเวลาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้จึงถึงที่พระพรหมมาอาราธนา ไม่ใช่ 4 สัปดาห์ ดังปรากฎในพระไตรปิฎก แต่เป็น 7 สัปดาห์ดังรายละเอียดต่อไปนี้

สัปดาห์ที่ 1

พระพุทธเจ้ายังคงนั่งสมาธิใต้ต้นโพธิต่อไปอีก 7 วันหลังจากตรัสรู้ เพื่อเสวยวิมุติสุขระหว่างนั้นก็พิจารณาปฏิจจสมุปบาทเวลาในช่วงหัวค่ำ

สัปดาห์ที่ 2

พระพุทธเจ้าแสดง ยมกปาฏิหาริย์ และไปยืนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากต้นโพธิ แล้วยืนจ้องต้นโพธิตาไม่กะพริบตลอด 7 วัน สถานที่นั้น ชื่ออนิมมิสเจดีย์

สัปดาห์ที่ 3

พระพุทธเจ้าเดินจงกรมกลับไปกลับมาระหว่างตำแหน่งที่ยืนจ้องต้นโพธิกับตำแหน่งที่นั่งตรัสรู้ในตอนแรก (แต่อรรถกถา ปาสราสิสูตร บอกว่า เดินจากระหว่างตำแหน่งที่จ้องต้นโพธิ์ไปทางทิศตะวันตกเลยพระบัลลังก์ที่ตรัสรู้และเดินกลับไปกลับมาจากจุดที่ยืนตอนแรกกับจุดทางทิศตะวันตกที่เลยพระบัลลังก์) เป็นเวลาตลอด 7 วัน สถานที่นั้น ชื่อรัตนจงกรมเจดีย์.

สัปดาห์ที่ 4

ต่อจากนั้น เทวดาทั้งหลายนิรมิตเรือนแก้วขึ้นทางด้านทิศประจิม (ตะวันตก) พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จนั่งขัดสมาธิ ณ เรือนแก้วนั้น ทรงพิจารณาอภิธรรมปิฏกคือสมันตปัฏฐาน ซึ่งมีนัยไม่สิ้นสุดในอภิธรรมปิฏกนี้ โดยพิสดารให้สัปดาห์ ๑ ผ่านพ้นไป. สถานที่นั้น ชื่อ รัตนฆรเจดีย์.

สัปดาห์ที่ 5

พระพุทธเจ้าออกจากสมาธิเดินจากต้นโพธิไปทางทิศตะวันออกยังต้นไทรแล้วนั่งสมาธิต่ออีก 7 วันหลังจากนั้นมีพราหมณ์ที่ชอบตวาดคนผ่านมาพบ และได้สนทนากับพราหมณ์ แต่ในอรรถกถา ปาสราสิสูตร ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องพราหมณ์ที่มาพบแต่บอกว่าในช่วงสัปดาห์ที่ 5 นี้ เสด็จเข้าไปยังอชปาลนิโครธ. ทรงเฟ้นธรรมแม้ในที่นั้น ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่. เมื่อทรงเฟ้นธรรมก็ทรงพิจารณาเพียงนัยแห่งอภิธรรมในธรรมนั้น คือคัมภีร์แรกชื่อธัมมสังคณีปกรณ์ ต่อนั้นก็วิภังคปกรณ์ ธาตุกถาปกรณ์ บุคคลบัญญัติปกรณ์ กถาวัตถุปกรณ์ ยมกปกรณ์ ต่อนั้น มหาปกรณ์ชื่อปัฏฐาน

ซึ่งจุดนี้มีข้อผิดสังเกตุใน อรรถกถา ปาสราสิสูตร ตรงที่ขีดเส้นใต้ไว้ น่าจะเป็นไปได้ว่า มั่วเล็กน้อย เพราะ คัมภีร์ กถาวัตถุปกรณ์ นี้เกิดขึ้นประมาณ 200-300 ปีหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว เป็นการรวบรวมลักษณะคำถามเกี่ยวกับความเห็นผิดต่างๆ และตอบแก้โดยพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช จึงเป็นไปไม่ได้ที่พระพุทธเจ้าจะมาพิจารณาคัมภีร์นี้ตอนตรัสรู้ใหม่ๆ

ซึ่งความเข้าใจผิดน่าจะเกิดจากการที่ผู้รวบรวมเนื้อความในอรรถกถาปาสราสิสูตรนี้ซึ่งเกิดหลังการสังคายนาครั้งที่ 3 เข้าใจผิดว่า อภิธรรมในพระสูตรหมายถึง พระอภิธรรมปิฎก ซึ่งเป็นตำรา 7 เล่ม(คัมภีร์) ที่เรียบเรียงภายหลังพุทธกาลแล้วไปขยายความว่า อภิธรรมที่พระพุทธเจ้าพิจารณาคือ 7 คัมภีร์ โดยหารู้ไม่ว่าคัมภีร์ กถาวัตถุปกรณ์ เกิดหลังพุทธกาล ซึ่งความจริงแล้ว คำว่าอภิธรรมในพระสูตรนั้นไม่ได้หมายถึงพระอภิธรรมปิฎกที่เป็นตำรา 7 เล่ม แต่หมายถึง โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ หรือ ธรรมอันเกื้อกูลให้เกิดการตรัสรู้ (ดังรายละเอียดในกินติสูตร)

สัปดาห์ที่ 6

พระพุทธเจ้าออกจากต้นไทร ไปนั่งสมาธิที่ต้นจิก (มุจจลินท์) เกิดฝนตกตลอด 7 วันแต่มีพญานาคราชมาแผ่พังพานกันลม กันฝน กัน แมลง ไม่ให้มารบกวนพระพุทธเจ้า

สัปดาห์ที่ 7

พระพุทธเจ้าออกจากต้นจิก (มุจจลินท์)   ไปนั่งสมาธิที่ต้นเกด (ราชายตนะ) ตลอด 7 วัน  ระหว่างนั้นมีพ่อค้า 2 คนชื่อ ตปุสสะ และ ภัลลิกะ เข้ามาถวายสัตตุผง และ สัตตุก้อน ท้าวจาตุมหาราช แต่ละองค์นำบาตรหินมาองค์ละใบ รวม 4 ใบ พระพุทธเจ้าประสานรวมบาตรทั้ง 4 เข้าเป็นใบเดียวกัน แล้วใช้บาตรรับ สัตตุผง และ สัตตุก้อน หลังจากนั้นพ่อค้าทั้ง 2 คนนี้ก็กล่าวขอถึงพระพุทธ และพระธรรมเป็นที่พึ่งทางใจตลอดชีวิต และขอสิ่งที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าลูบพระเศียรพระองค์ท่านได้พระเกศาติดมือมา ก็มอบให้พ่อค้าทั้ง 2 ก่อนจะจากไป (แต่ใน อรรถกถา ปาสราสิสูตร ระบุว่าทรงนั่งสมาธิที่ต้นเกดตลอด 7 วันโดยไม่มีใครมากวน)

หลังจากครบสัปดาห์ที่ 7 

พระพุทธเจ้าออกจากต้นเกด  ไปที่ต้นไทร และเกิดท้อพระทัยในการสั่งสอนธรรมที่พระองค์ได้บรรลุแก่สัตว์โลก เพราะพระองค์ทราบว่าถ้าทำเช่นนี้ พระพรหมจะมาอาราธนาให้พระองค์สอนสัตว์โลกบางเหล่าที่พอสอนได้ เพราะชาวโลกนับถือพรหมถ้าขนาดพรหมมาเชิญแสดงว่าธรรมะเป็นของสูง หลังจากนั้นพระองค์ก็พิจารณาเห็นว่าจริงตามที่พระพรหมบอก และอุปมา สัตว์โลกดังดอกบัว 3 เหล่า  อยู่ในน้ำ 3 ระดับ  จึงตัดสินใจที่จะแสดงธรรมต่อสัตว์โลกและตอบรับคำอาราธนาของพระพรหม

แต่ใน อรรถกถา ปาสราสิสูตร บอกว่า ก่อนที่จะออกจาต้นเกด ทรงเคี้ยวไม้สีฟันและสมอยาที่ท้าวสักกะจอมเทพนำมาถวาย ทรงบ้วนพระโอฐแล้ว เมื่อท้าวจตุโลกบาลน้อมบาตรศิลามีค่าพิเศษถวาย ก็เสวยบิณฑบาตของตปุสสะและภัลลิกะสองพาณิชแล้วเสด็จกลับมาประทับนั่ง ณ อชปาลนิโครธอีก ทรงเกิดปริวิตกนี้ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็ทรงเคยปริวิตกกันมาแล้ว คือ ท้อพระทัยที่จะสั่งสอน หลังจากนั้นก็มีพระพรหมมาอาราธนา (และล่าประวัติพระพรหมที่มาอาราธนาว่า เคยเป็นพระภิกษุชื่อสหกะ บวชในสมัยพระกัสสปะพุทธเจ้า แล้วได้ฌาณเลยไปเกิดเป็นพรหมอายุ 1 กัป) และพิจารณาสัตว์โลก ก่อนรับอาราธนาพระพรหมว่าจะสั่งสอนสัตว์โลก

ไว้จะมาเล่ารายละเอียดหลังจากนี้ในโอกาสหน้า

——————————————————————

เชิงอรรถ

ต่อไปเนื้อหาในพระปิฎกพระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑  ผู้เขียนตัดคำฟุ่มเฟือยบางคำออก และเรียบเรียงใหม่

สัปดาห์แรก :  โพธิกถา

โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า แรกตรัสรู้ประทับอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ตลอด ๗ วัน และทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาทเป็นอนุโลมและปฏิโลม ตลอดปฐมยามแห่งราตรี

สัปดาห์ที่ 2 :อชปาลนิโครธกถา  เรื่องพราหมณ์หุหุกชาติ (พรามหณ์ชอบตวาดคน)

ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากสมาธินั้น
เสด็จจากควงไม้โพธิพฤกษ์เข้าไปยังต้นไม้อชปาลนิโครธ (ต้นไทร) แล้วประทับนั่งด้วย บัลลังก์เดียวเสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้อชปาลนิโครธตลอด ๗ วัน. ครั้งนั้น พราหมณ์หุหุกชาติคนหนึ่งผ่านมาและเข้าไป กราบทูลคำนี้ แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ก็แลธรรมเหล่าไหนทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรง
เปล่งอุทานนี้ในเวลานั้น ว่า

“พราหมณ์ใดมีบาปธรรมอันลอยเสีย
แล้ว ไม่ตวาดผู้อื่นว่า หึหึ ไม่มีกิเลสดุจน้ำ
ฝาด มีตนสำรวมแล้ว ถึงที่สุดแห่งเวท มี
พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว พราหมณ์นั้นไม่มี
กิเลสเครื่องฟูขึ้น ในอารมณ์ไหน ๆ ในโลก
ควรกล่าวถ้อยคำว่า ตนเป็นพราหมณ์โดย
ธรรม”

สัปดาห์ที่ 3 : มุจจลินทกถา เรื่องมุจลินทนาคราช

ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากสมาธินั้น
เสด็จจากควงไม้อชปาลนิโครธ เข้าไปยังต้นไม้มุจจลินท์ แล้วประทับนั่งด้วย บัลลังก์เดียวเสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้มุจจลินท์ตลอด ๗ วัน  ครั้งนั้น เมฆใหญ่ในสมัยมิใช่ฤดูกาลตั้งขึ้นแล้ว ฝนตกพรำเจือด้วยลมหนาว ตลอด ๗ วัน ครั้งนั้น มุจจลินทนาคราชออกจากที่อยู่ของตนได้แวดวงพระกายพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยขนด ๗ รอบ ได้แผ่พังพานใหญ่เหนือพระเศียรสถิตอยู่ด้วยหวังใจว่า ความร้อน อย่าเบียดเบียนพระผู้มีพระภาคเจ้า สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน อย่าเบียดเบียนพระ
ผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นล่วง ๗ วัน มุจจลินทนาคราชรู้ว่า อากาศปลอดโปร่ง ปราศจากฝนแล้ว จึงคลายขนดจากพระกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า จำแลงรูป ของตนเป็นเพศมาณพ ได้ยืนประคองอัญชลีถวายมันสการพระผู้มีพระภาคเจ้าทางเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า.

พระพุทธเจ้าเปล่งอุทานว่า

ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้สันโดษ
มีธรรมปรากฏแล้ว เห็นอยู่ ความไม่พยาบาท
คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขใน
โลก ความปราศจากกำหนัด คือความล่วง
กามทั้งหลายเสียได้ เป็นสุขในโลก การกำ
จัดอัสมิมานะเสียได้นั้นแล เป็นสุขอย่างยิ่ง.

สัปดาห์ที่ 4 : ราชายตนกถา เรื่องตปุสสะ ภัลลิกะ ๒ พ่อค้า

ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากสมาธินั้น
แล้วเสด็จจากควงไม้มุจจลินท์ เข้าไปยังต้นไม้ราชายตนะ แล้วประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้ราชายตนะ ตลอด ๗ วัน ก็สมัยนั้น พ่อค้าชื่อตปุสสะ ๑ ภัลลิกะ ๑ เดินทางไกลจากอุกกลชนบทถึงตำบลนั้น ครั้งนั้น เทพดาผู้เป็นญาติสาโลหิตของตปุสสะภัลลิกะ ๒ พ่อค้า ได้กล่าวคำนี้กะ ๒ พ่อค้านั้นว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นี้ แรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงไม้ราชายตนะ ท่านทั้งสองจงไป บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ด้วยสัตตุผง และ สัตตุก้อน การบูชาของท่าน
ทั้งสองนั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ท่านทั้งหลายตลอดกาลนาน.

ครั้งนั้น พ่อค้าชื่อตปุสสะ และภัลลิกะ ถือสัตตุผงและสัตตุก้อนเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วถวายบังคม ได้ยีนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้ทูลคำนี้แค่ พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้พระภาคเจ้าจงทรงรับสัตตุผง
สัตตุก้อนของข้าพระพุทธเจ้าทั้งสอง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนาน ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงปริวิตกว่า พระตถาคตทั้งหลาย ไม่รับวัตถุด้วยมือ เราจะพึงรับสัตตุผง และสัตตุก้อนด้วยอะไรหนอ. ลำดับนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ ทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของ พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยใจของตนแล้ว เสด็จมาจาก ๔ ทิศ ทรงนำบาตรที่สำเร็จ ด้วยศิลา ๔ ใบเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงรับสัตตุผงและสัตตุก้อนด้วยบาตรนี้ พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าอฐิษฐานรวมบาตรทั้ง 4 เข้าเป็นใบเดียวกันแล้ว ทรงใช้บาตรสำเร็จด้วยศิลาอันใหม่เอี่ยมนั้น รับสัตตุผง และสัตตุก้อน แล้วเสวย. ครั้งนั้น พ่อค้าตปุสสะและภัลลิกะ ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าและ และพระธรรมว่า เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้า ทั้งสองว่าเป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.

ก็นายพาณิชสองคนนั้น ได้เป็นอุบาสกล่าวอ้าง ๒ รัตนะ เป็นชุดแรกในโลก.

หลังครบสัปดาห์ที่ 4 : อัปโปสสุกกกถา เรื่องความขวนขวายน้อย และ พรหมยาจนกถา เรื่องพรหมทูลอาราธนา

ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากสมาธินั้น แล้ว
เสด็จจากควงไม้ราชายตนะ เข้าไปยังต้นไม้อชปาลนิโครธ ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ ควงไม้อชปาลนิโครธนั้น และพระองค์เสด็จไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีพระปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ เป็นคุณอันลึกเห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต ไม่หยั่งลงสู่ความตรึก ละเอียดเป็นวิสัยที่บัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง ส่วนหมู่สัตว์นี้เริงรมย์ด้วยอาลัยยินดีในอาลัย ชื่นชมในอาลัย ฐานะคือความที่อวิชชาเป็นปัจจัยแห่งสังขารเป็นต้นนี้ เป็นสภาพอาศัยปัจจัยเกิดชั้นนี้ อันหมู่สัตว์ผู้เริงรมย์ด้วยอาลัย ยินดีใน
อาลัย. ชื่นชมในอาลัยเห็นได้ยาก แม้ฐานะคือธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวงเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สิ้นกำหนัด เป็นที่ดับสนิทหากิเลสเครื่องร้อยรัดมิได้ นี้ก็แสนยากที่จะเห็นได้ ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรมสัตว์เหล่าอื่นก็จะไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเรา ข้อนั้น จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา.

พระพุทธเจ้าทรงดำริว่า

บัดนี้ เรายังไม่ควรจะประกาศธรรมที่เราได้บรรลุแล้วโดยยาก เพราะธรรมนี้อันสัตว์ผู้อันราคะและโทสะครอบงำแล้วไม่ตรัส
รู้ได้ง่าย สัตว์ผู้อันราคะย้อมแล้วถูกกองอวิชชาหุ้มห่อแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันละเอียดลึกซึ้ง ยากที่จะเห็น ละเอียดยิ่ง อันจะยังสัตว์ให้ถึงธรรมที่ทวนกระแส คือพระนิพพาน.

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาเห็นอยู่ ดังนี้ พระทัยก็น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อทรงแสดงธรรม.

ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทราบพระปริวิตกแห่งจิตของพระผู้-
มีพระภาคเจ้าด้วยใจของตนแล้วเกิดความปริวิตกว่า ชาวเราผู้เจริญ โลกจักฉิบหายหนอ โลกจักวินาศหนอ เพราะตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อทรงแสดงธรรมลำดับนั้น ท้าวสหับดีพรหมได้หายไปในพรหมโลก มาปรากฏ ณ เบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดุจบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้ แขนที่เหยียดฉะนั้น ครั้นแล้วห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าคุกชาณุมณฑลเบื้องขวา ลงบนแผ่นดิน ประณมอัญชลีไปทางพระผู้มีภาคเจ้าแล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มี. พระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าได้โปรดทรงแสดงธรรม
ขอพระสุคตได้โปรดทรงแสดงธรรม เพราะสัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีในจักษุ น้อยมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี .ท้าวสหัมบดีพรหมได้กราบทูลดังนี้แล้ว จึงกราบทูลเป็นประพันธคาถาต่อไปว่า:-

เมื่อก่อนธรรมไม่บริสุทธิ์อันคนมีมลทินทั้งหลาย คิดแล้วได้ปรากฏในมคธชนบท ขอพระองค์ได้โปรดทรงเปิดประตูแห่ง
อมตธรรมนี้ ขอสัตว์ทั้งหลายจงฟังธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้หมดมลทินตรัสรู้แล้วตามลำดับ เปรียบเหมือนบุรุษมีจักษุยืน
อยู่บนยอดภูเขา ซึ่งล้วนแล้วด้วยศิลา พึงเห็นชุมชนได้โดยรอบฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้มีปัญญาดี มีพระปัญญาจักษุรอบคอบ ขอ
พระองค์ผู้ปราศจากความโศกจงเสด็จขั้น สู่ปราสาท อันสำเร็จด้วยธรรม แล้วทรงพิจารณาชุมชนผู้เกลื่อนกล่นด้วยความโศก
ผู้อันชาติและชราครอบงำแล้ว มีอุปมัยฉันนั้นเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ทรงชนะสงความ ผู้นำหมู่หาหนี้มิได้ ขอพระ-
องค์จงทรงอุตสาหะเที่ยวไปในโลกเถิด ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดแสดงธรรมเพราะสัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบคำทูลอาราธนาของ
พรหมและทรงอาศัยความกรุณาในหมู่สัตว์ จึงทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักขุเมื่อตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักขุ ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีคือกิเลสใน จักษุน้อยก็มี ที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุมากก็มี ที่มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี ที่มีอินทรีย์ อ่อนก็มี ที่มีอาการดีก็มี ที่มีอาการทรามก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี ที่จะสอน
ให้รู้ได้ยากก็มี ที่มีปรกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัยอยู่ก็มี. มีอุปมาเหมือนดอกอุบลในกออุบล ดอกปทุมในกอปทุม หรือดอก บุณฑริกในกอบุณฑริก ที่เกิดแล้วในน้ำ เจริญแล้วในน้ำ งอกงามแล้วในน้ำ บางเหล่ายังจมในน้ำ อันน้ำเลี้ยงไว้ บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่ พ้นน้ำ อันน้ำไม่ติดแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักขุ ได้ทรงเห็นสัตว์ ทั้งหลาย บางพวกมีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย บางพวกมีธุลีคือกิเลสในจักษุมากบางพวกมีอินทรีย์แก่กล้า บางพวกมีอินทรีย์อ่อน บางพวกมีอาการดี บางพวกมีอาการทราม บางพวกสอนให้รู้ได้ง่าย บางพวกสอนให้รู้ได้ยาก บางพวกมีปรกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัยอยู่ ฉันนั้น เหมือนกัน

ครั้นแล้วได้ตรัสตอบท้าวสหัมบดีพรหมว่า

เราเปิดประตูอมตะแก่ท่านแล้ว สัตว์
เหล่าใดจะฟัง จงปล่อยศรัทธามาเถิด ดูก่อน
พรหม เพราะเรามีความสำคัญในความลำ-
บาก จงไม่แสดงธรรมที่เราคล่องแคล่ว
ประณีต ในหมู่มนุษย์.

ครั้นท้าวสหัมบดีพรหมทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทาน
โอกาสเพื่อจะแสดงธรรมแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าทำประทักษิณแล้ว อันตรธานไปในที่นั้นแล.

ข้อความนี้ถูกเขียนใน #พระพุทธเจ้า#, ธรรมะและศาสนา คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น